คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรณีเด็กถูกทำร้ายในโรงเรียนเอกชน โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดยืนยัน เป็นเรื่องสะเทือนใจบรรดาผู้ปกครองและคนในสังคมทั่วไปอย่างกว้างขวาง

ความสะเทือนใจพิเศษมาจากการที่เหยื่อความรุนแรงเป็นเด็กน้อยที่ไม่มีทางป้องกันตัวเองได้

ยิ่งเมื่อรายละเอียดเบื้องหลังเหตุการณ์เผยว่า ผู้ลงมือไม่ได้มีสถานะเป็นครู ไม่ได้แม้แต่เป็นครูพี่เลี้ยง ส่วนผู้เป็นครูที่เห็นเหตุการณ์กลับดูดาย ยิ่งกระทบจิตใจผู้คนจำนวนมาก

ทำให้เกิดคำถามว่ามีภัยซ่อนเร้นเช่นนี้ในที่อื่นอีกหรือไม่ และคนในสังคมจะร่วมกันป้องกันเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนี้อย่างไร

การตอบสนองเหตุการณ์นี้ของโรงเรียนคือไล่บุคลากรผู้ก่อเหตุและผู้เกี่ยวข้องออก ขณะเดียวกันจะถูกตรวจสอบด้วยว่าโรงเรียนจ้างคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาทำหน้าที่ครูหรือไม่ โดยมีโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 60,000 บาท

ด้านกระทรวงศึกษาธิการ จัดประชุมหารือร่วมกับตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ ผู้ปกครอง และโรงเรียน จนได้ข้อสรุปว่าจะให้กรมสุขภาพจิตเข้ามาช่วยดูแลเยียวยาจิตใจร่างกายของนักเรียนและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับการดำเนินคดีอาญาเป็นหน้าที่ของตำรวจ ไม่เฉพาะกับผู้ก่อเหตุ ยังรวมถึงครูยืนดูในขณะที่เด็กถูกประทุษร้าย ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและศึกษาธิการจังหวัดจะลงพื้นตรวจสอบโรงเรียนที่เกิดเหตุ และจะตรวจสอบโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

ความพยายามที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว มีแรงกดดันและตรวจสอบจากสังคมโดยรวม นับเป็นเรื่องดี

เพราะจะเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ และผู้ปกครองเห็นความสำคัญที่จะต้องคุ้มครองเด็ก ไม่เฉพาะบุตรหลานของตนเอง

แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ให้เด็กรู้ถึงภัยความรุนแรง และป้องกันตัวจากความรุนแรง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์

ส่วนสังคมต้องไม่ควรปล่อยให้มีการข่มขู่คุกคามและทำร้ายเด็กและเยาวชน ไม่ว่าอยู่ในวัยใด หรือโดยใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน