6ตุลา19ถึงยุคชุมนุม63“อยากเตือนว่า ถ้าจะสู้ เพื่อประชาธิปไตย สู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ต้องเตรียมพร้อม เพราะผู้มีอำนาจจะไม่ปรานี พวกคุณ เพราะเขามองคุณเป็นเหมือนมดตัวหนึ่งเท่านั้น การชุมนุมต้องทำให้มีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด และต้องยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อให้มากที่สุด”

ช่วงสถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนแรง กลุ่มนักเรียน-นักศึกษาออกมาเป็นแนวหน้าในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีปัญหา จนทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง

กลิ่นอายทางการเมืองในขณะนี้เหมือนย้อนกลับไปเมื่อ 44 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ภาพเหตุการณ์ปี 2519 จาก โครงการบันทึก 6 ตุลา

เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเรื่อง “การเมืองกับขบวนการนักเรียนนักศึกษา ก่อนจะถึง 6 ตุลา 19” ที่ห้องโถง มติชนอคาเดมี โดยเชิญบุคคลที่อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวมา เล่าย้อนความหลังกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ เกิดขึ้น

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เริ่มจาก ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่าปีที่เข้าเรียนคือพ.ศ.2511 เป็นปีที่ร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นปีที่ 8 คนเบื่อมากว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ตอนนั้นรัฐบาลประกาศว่าจะมีเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 ซึ่งบรรยากาศตอนนั้นต้องพูดว่า ‘การเมืองมาหาเรา เราไม่ได้ไปหาการเมือง’ ช่วงนั้นการโต้วาที หัวข้อ ก็วนอยู่แต่ประเด็นประชาธิปไตย

“รุ่นผมมีโต๊ะหน้าคณะรัฐศาสตร์ คุยแต่เรื่องการเมืองทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็น กระทั่งปี 2512 มีการตั้งชื่อกลุ่มว่า สภาหน้าโดม พิมพ์หนังสือการเมืองเล่มละหนึ่งบาทขายที่ประตูท่าพระจันทร์ เล่มที่มีหัวข้อแตกตื่นกันมาก คือ หนังสือชื่อภัยขาว มีประเด็นยุบการแข่งขันฟุตบอลประเพณี เพราะสร้างอภิสิทธิ์ชน มีการแปลบทกวีชื่อ แด่ปัญญาชนผู้ไม่สนใจการเมือง ผมใช้นามปากกาแธนส์ มีตำรวจมาขอซื้อ มีคนโทร.มาตามว่าใครทำ สถานทูตอเมริกาก็ขอซื้อ สุดท้ายพิมพ์ครั้งที่ 2 ขึ้นราคาเป็น 3 บาท” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ศ.ดร.ธเนศชี้ว่าถ้าดูบรรยากาศโดยรวมในตอนนั้น สถานการณ์ในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทำกันมานานแล้ว ระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ทำให้คนคับข้องใจ สะกิดนิดเดียวเกิดเหตุ ไม่มีการจัดตั้ง แต่จัดตั้งกันเองโดยธรรมชาติ ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 นักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมือง เนื่องจากการปกครองตอนนั้นปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และมีปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลายาวนานยังไม่สำเร็จ ทำให้ผู้คนคับข้องใจจนเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค.2519

เมื่อผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมา ประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างเต็มที่ ทำให้มีอีกฝ่ายพยายามที่จะรักษาอำนาจ เอาไว้ จึงเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่นำพาให้การเมืองไทยย้อนกลับไปเป็นการเมืองแบบเก่า โดยมีการสร้างเงื่อนไขด้วยการฆ่าปิดปากผู้นำแรงงาน ผู้นำชาวนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาขณะนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเหมือนในอดีต เพราะมีวิธีที่จะจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และผู้นำขณะนี้ต้องมีสติมากพอที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

พลากร จิรโสภณ

ด้าน นายพลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยปี 2516 ร่วมให้ความเห็นว่า บทบาทของนักเรียนในเวลานั้นแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 กับหลัง 14 ตุลา ก่อน 14 ตุลา มีการเคลื่อนไหว การตื่นตัวของนักเรียนอยู่แล้วกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่ากลุ่มยุวชนสยาม ซึ่งเป็นการรวมตัวของเด็กนักเรียนที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และแนวคิดของโกมล คีมทอง “ครู” ผู้กล้าหาญ ที่มุ่งมั่น และจริงจัง อุทิศตนให้กับการศึกษาและสังคมในชนบท โดยมีนักเรียนหัวกะทิจากโรงเรียนดังๆ มารวมตัวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ

ช่วงนั้นไม่ได้เริ่มต้นที่ความคิดทางการเมืองโดยตรง แต่ส่วนใหญ่จะสนใจปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ศาสนา เป็นช่วงของการแสวงหา

ขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลทางความคิด จากการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ยุวชนสยามตั้งขึ้นราวปี 2514 มีบทบาท มากๆ คือ 2515 ยุคที่มีการเคลื่อนไหวก่อนเกิด 14 ตุลา 2516

“บางส่วนก็ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา การเรียน เรียนไปเพื่ออะไร นอกจากความตื่นตัวในการแสวงหาคำตอบ ในขณะเดียวกันก็มีความคิดของการทำกิจกรรม มีสมาชิกบางส่วนขยับขยายไปทำกิจกรรมร่วมกับนิสิตในเวลานั้น มีการทำหนังสือชื่อ ‘กดกดกด’ ปกเป็นภาพมือกดหัวนักเรียน จอมพลถนอม กิตติขจร เอาไปพูดในที่ประชุม ครม.ว่าหนังสือเล่มนี้มีแนวคิดรุนแรง ศูนย์กลางนักเรียนจึงโด่งดังมาก สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ สิ่งที่ต่อสู้ยังเป็นประเด็นเดียวกับเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

แต่ยุคนี้แตะไปถึงประเด็นโครงสร้าง อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยเล่าว่า หากจะสรุปในภาพรวมก่อน 14 ต.ค. นักเรียนส่วนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการจำลองการเลือกตั้ง ต่อมาหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. เกิดการเบ่งบานเต็มที่ นักเรียนตื่นตัวกัน อย่างมหาศาล เด็กๆ ออกมาทำกิจกรรมและรณรงค์ทางการเมืองในโรงเรียนต่างๆ พร้อมกับเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในประเด็นต่างๆ

การแสดงออกของกลุ่มนักเรียน ยุค 2563

“นักเรียนไทยในวันนี้ยังต่อสู้ในประเด็นเหมือนนักเรียนเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเราถูกมองว่าเป็นนักเรียนกบฏ เพราะเราต่อสู้เรื่องผมสั้น ผมยาว ถูกครูกล้อนผม เรื่องกางเกง ขาสั้น ขายาว เรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน การใช้อำนาจนิยม ปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในโรงเรียน ปัญหาการใช้อำนาจของครู ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนที่ไม่สอนให้เด็กคิด ครูไม่มีคุณภาพ ใช้อำนาจ ใช้อารมณ์ และเด็กรุ่นนี้มีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมชุมนุม”

“อย่างไรก็ตาม อยากเตือนว่าถ้าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย สู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ต้องเตรียมพร้อม เพราะผู้มีอำนาจจะไม่ปรานีพวกคุณ เพราะเขามองคุณเป็นเหมือนมดตัวหนึ่งเท่านั้น” นายพลากรกล่าว

กฤษฎางค์ นุตจรัส

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2521 ปัจจุบันผันตัวเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า สัมผัสการเมืองในปี 2514 ตอนนั้นอยู่ ม.ศ.2 ขณะกำลังกลับบ้าน โดยนั่งรถเมล์จากโรงเรียนสวนกุหลาบ ผ่านสนามหลวง ซื้อหนังสือพิมพ์ เห็นว่าจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติตัวเองแล้ว มีการจับนักศึกษาไปที่สน.สำราญราษฎร์ เหมือนที่ทนายอานนท์ นำภา โดนจับในตอนนี้

ปัญหาการศึกษาตอนนั้นเป็นเรื่องระบบที่มีปัญหาต้องให้นักเรียนท่องจำชื่อรัฐมนตรี ก็เริ่มมีนักเรียนออกมาเคลื่อนไหวกัน เพราะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อดีตนักศึกษาในช่วงนั้นระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา โหดร้าย กว่าที่เราเห็นในภาพถ่ายและคลิปวิดีโอมาก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่มีคนโง่ที่จะทำ

การชุมนุมใหญ่ของปี 2563 เมื่อ 19 ก.ย.

หลายปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่อง 6 ตุลา 19 มากขึ้น เพราะพวกเขาเริ่มตื่นตัวทางการเมือง เชื่อว่าเขาไม่ได้หวาดกลัว แต่คิดว่านี่คือความโหดร้ายของชนชั้นปกครอง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีการโจมตีกลุ่มนักศึกษาว่ามีเบื้องหลังและท่อน้ำเลี้ยง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 6 ตุลา

การใช้สื่อปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงปี 2519

“6 ตุลา เกิดขึ้นจากความตั้งใจของชนชั้นปกครองที่ต้องการนำระบบเก่าขึ้นมาใช้อีก ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว แม้มีความพยายามให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกครั้งจากการปลุกระดม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเตือนน้องๆ คือ เผด็จการทหารนั้นโหดร้าย การชุมนุมต้องทำให้มีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด และต้องยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อให้มากที่สุด” อดีตนายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2521 กล่าวในที่สุด

โดย นพพล สันติฤดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน