คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การประเมินเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ทั้งธนาคารไทยและธนาคารโลกได้ผลออกมาคล้ายๆ กันคือติดลบ

ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 จะขยายตัวติดลบเฉลี่ยร้อยละ 8.5 และจะติดลบไปจนถึงไตรมาส 1ของปี 2564

พร้อมมีคำแนะนำแนบมาว่า หากเงินเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่ผลักดันออกมา น่าจะพอมีผลช่วยฟื้นฟู
เศรษฐกิจได้

แต่อุปสรรคที่ติดขัดอยู่คือการเว้นว่างของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้หลายโครงการหยุดชะงัก และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ด้านธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระดับพื้นฐานติดลบที่ร้อยละ -8.3 จากปี 2562 และหากแย่กว่านั้นระดับต่ำสุดจะติดลบร้อยละ -10.4

อัตราดังกล่าวถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียนที่มีตัวเลขติดลบเฉลี่ยร้อยละ -3.5 ถึง -4.7

เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม เพื่อนร่วมภูมิภาค มีอัตราการเติบโตบวกร้อยละ 2.8 จากปีก่อน และระดับต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 1.5

บทวิเคราะห์ของเวิลด์แบงก์ดังกล่าวไม่ได้เปรียบเทียบผลงานรับมือโควิด-19ของไทยกับเวียดนาม เพียงระบุว่า ไทยรับมือโควิดได้ดีมาก แต่สมดุลกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหรือไม่ รัฐบาลต้องใคร่ครวญเอง

ประเด็นน่าสนใจจากคำแนะนำของเวิลด์แบงก์คือไทยใช้งบเยียวยาผลกระทบโควิดสูงสุดในภูมิภาค หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีปีนี้

แต่ผลที่ออกมาสะท้อนว่ายังใช้ไม่ตรงจุด

ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะตอบโต้เป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า เป็นเพราะสถานการณ์โควิดทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ รัฐบาลต้องย้อนกลับไปทบทวนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจ ว่าจะต้องแก้ตรงไหนจุดใด ทำอย่างไรให้เงินจำนวนมหาศาลนั้นใช้แก้ปัญหาตรงจุดมากที่สุด

คำถามอยู่ที่ว่าขุนคลังที่จะเป็นกำลังหลักในการทบทวนนี้มีแล้วหรือยัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน