คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

มีคำยืนยันมาจากผู้นำรัฐบาลว่าการติดตามค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการจำนำข้าวของผู้นำรัฐบาลคนก่อนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ยังดำเนินการอย่างเข้มข้นอยู่ไม่ได้ทอดทิ้ง

หลังจากมีผู้ติงว่าคดีจะหมดอายุความในเดือนมกราคม 2564

ถ้อยคำยืนยันเอาจริงเอาจังดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลชุดรัฐประหารและรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับการต่อต้านโครงการจำนำข้าวมาตั้งแต่เริ่มต้น

จนเป็นปัจจัยและเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557

นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจหลายคนเคยเตือนว่าโครงการจำนำข้าวเอื้อประโยชน์ให้ชาวนาได้โดยตรง แต่ใช้นานไม่ได้ เพราะเป็นการใช้เงินอุดหนุนที่มีผลกระทบด้านลบต่อกลไกการตลาด

อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดรูรั่วได้หลายจุด ดังที่ปรากฏว่ามีคดีทุจริตที่แทรกอยู่

ข้อถกเถียงเรื่องโครงการจำนำข้าวให้ประโยชน์กับชาวนาและทำให้เงินไหลเข้าสู่กลุ่มรากหญ้าจนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือเป็นผลร้ายมากกว่ากันนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากเกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน

ประชาชนหมดโอกาสที่จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ ตัดสินชี้ชะตา ว่าโครงการจำนำข้าวควรเดินหน้า หรือปรับเปลี่ยนหรือไม่เพียงใด

โครงการจำนำข้าวถูกตัดสินโดยกลุ่มสนับสนุนการรัฐประหาร ถูกกองทัพนำมาเปรียบเทียบกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ถูกโจมตีว่าทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องกู้เงินมาใช้หนี้ อีกทั้งยังต้องติดตามค่าเสียหายจากโครงการ

ก่อนหน้านี้เคยมีการสรุปความเสียหายของโครงการให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

ความน่าสนใจก็คือ หากอดีตผู้นำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายเชิงนโยบายส่วนนี้ แล้วผู้นำประเทศคนอื่นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการบริหารงานอื่นๆ ด้วยหรือไม่

จะได้เป็นบรรทัดฐานที่เท่าเทียมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน