คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้เก่าและหนี้ใหม่ แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เป็นการก่อหนี้ใหม่จำนวน 1.64 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับการก่อหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่ครบอายุอีก 1.27 ล้านล้านบาท มีกรอบวงเงินการบริหารหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท

ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ระบุว่า การก่อหนี้ใหม่ 1.64 ล้านล้านบาท เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1.34 ล้านล้านบาท และอีก 1.17 แสนล้านบาท เป็นการกู้ของรัฐวิสาหกิจ

การจัดการกับหนี้เก่า รัฐบาลกู้โดยตรง 1.09 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจกู้ 1.37 แสนล้านบาท

ด้วยตัวเลขดังกล่าวนี้บ่งบอกว่าภารกิจบริหารจัดการหนี้ในปี 2564 ที่รออยู่นี้ จะต้องอาศัยฝีมือการบริหารงานของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

 

การบ้านหรือภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่กระทรวงการคลังชี้ให้เห็นคือ ครม.ต้องเร่งรัดหน่วยงานที่เป็นฝ่ายรับผิดชอบโครงการลงทุน ให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว

หลังจากมีการกู้เพื่อการลงทุนระยะปานกลาง 5 ปี (2564-2568) ไปแล้ว 389 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1.2 ล้านล้านบาท

แต่ขณะนี้มี 56 โครงการที่ล่าช้า ทำให้เหลือโครงการกู้เพื่อการลงทุน 182 โครงการ ลดลง ร้อยละ 30 หรือคิดเป็น 3.81 แสนล้านบาท

หากประเมินว่าเงินมูลค่าสามแสนล้านบาททำอะไรได้บ้าง อาจย้อนเปรียบเทียบกับแผนกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทสมัยรัฐบาลเก่า ซึ่งถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558

 

หากยังไม่นับผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเก่านำเสนอแผนจัดการน้ำปี 2555 จนยกเลิกไป ปี 2558 เกษตรกรและประชาชนทั่วไปยังเผชิญภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งที่ร้ายแรงอยู่เป็นระยะ

กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าการลงทุนของรัฐบาลเองติดปัญหายืดเยื้อ ล่าช้า งบ ค้างท่อ และจมหายมาหลายโครงการ ทั้งจากระบบและขั้นตอนราชการที่เป็นอุปสรรค

และจากการรัฐประหาร ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการเมืองที่ตัดเส้นทางประชาชนออกจากกลไก ของรัฐ

เมื่อขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ประเทศหาเงินได้น้อยลง หนี้สาธารณะของประเทศกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.3 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 57 ของจีดีพี

รัฐบาลมีแผนที่จะแก้ไขรับมืออย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน