คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไม่ได้ทำอะไรผิด? – ข้อเรียกร้องหนึ่งของกลุ่มเยาวชนที่ชุมนุมยาวนานต่อเนื่องคือให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งได้คำตอบที่ชัดเจนจากผู้ถูกเรียกร้องไปแล้วว่า ไม่ออก

จึงคาดได้ว่าการชุมนุมจะยังมีต่อเนื่องต่อไป แม้รัฐบาลจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่ประกาศออกมาเพิ่มให้เข้มข้นขึ้น

คำถามที่น่าถกเถียงในสังคมประชาธิปไตยคือกฎหมายที่มีออกมามากมายนั้นขัดต่อเนื้อหาและหลักการในรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหรือไม่ รวมไปถึงขัดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือไม่

การถกเถียงนี้อาจไม่ได้ข้อสรุป เพราะกฎหมายหลายฉบับมีเงื่อนไขที่พะรุงพะรัง เปิดช่องให้ฝ่ายผู้มีอำนาจตีความเอง

การที่แกนนำและแนวร่วมผู้ชุมนุมถูกจับจำนวนมาก เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลผู้ถือครองอำนาจใช้วิธีตีความหรือใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่นำออกมาใช้เองได้อย่างไร

นอกเหนือไปจากความได้เปรียบในฐานะ ผู้ควบคุมกลไกราชการ ทรัพยากรของรัฐ และกฎกติกาทางเศรษฐกิจและสังคม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่งมาจากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (ศปก.นรม.) โพสต์คำถาม-คำตอบเองในสื่อโซเชี่ยล มีเนื้อสอดคล้องกับคำยืนยันของนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่ลาออก

นอกจากจะเอ่ยถึงผลงานและคุณงามความดีต่างๆ แล้ว ยังเน้นย้ำถึงคุณสมบัติว่าไม่มีคดีโกงและคอร์รัปชั่น อีกทั้งยังจัดตั้งรัฐบาลมาตาม กระบวนการเสียงข้างมากในรัฐสภา

คุณสมบัติดังกล่าวนี้เองที่ตอกย้ำถึงกระแสต่อต้านจากผู้ชุมนุม

เนื่องจากการหยิบยกจุดเด่นไม่โกงไม่คอร์รัปชั่นทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันและขัดแย้งกัน

สำหรับ ศปก.นรม. การไม่โกงอาจตีกรอบเฉพาะเรื่องเงิน สินบน ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่สำหรับ ผู้ชุมนุม การโกงและคอร์รัปชั่น ครอบคลุมถึงการยึดอำนาจ ยึดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร

เมื่อเริ่มต้นด้วยการยึดอำนาจจากประชาชนไปแล้ว กระบวนการอื่นๆ ที่ตามมา รวมถึงการใช้กฎหมายพิเศษ จึงไม่เป็นที่เคารพยอมรับและไม่สง่างาม กลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนดังที่ปรากฏอยู่ขณะนี้

เหตุผลที่นายกฯ จะไม่ลาออก เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด จึงเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาด้วย

และเรื่องที่ผิดที่สุดก็คือไม่รู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาดไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน