ม็อบวัดใจเสี่ยงแตกหัก – คืนวันที่ 18 ฟังแกนนำม็อบราษฎรนัดมวลชน อีก 7 วันไปสำนักงานทรัพย์สินฯ แล้วหลังจากนั้นจะม็อบทุกวันไม่มีหยุด

ฟังแล้วสะดุดใจ ทำไมนัดล่วงหน้า 7 วัน นัดเช้านัดเที่ยงก็ได้ เย็นมากันพรึ่บ นี่เขาประกาศล่วงหน้าท้าทายรัฐบาลนี่นา แถมเลือกจุดอ่อนไหวให้เต้นผางๆ

พอเช้ามาก็เป็นอย่างที่คิด ประยุทธ์แถลงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กฎหมาย โดยจะบังคับใช้ “ทุกฉบับ ทุกมาตรา”

เข้าทางไหมล่ะ อานนท์ นำภา โพสต์ดักคอไว้แล้วว่ารัฐจะใช้ 112 ดี้ นิติพงษ์ ก็ออกมาชง แต่ประยุทธ์เคยพูดไว้ ในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ 112

แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ก็ดูกันต่อไป แต่พึงรำลึกไว้ ม็อบคนรุ่นใหม่ไม่ได้โง่ ไม่ได้มุทะลุ พวกเขาฉลาดกว่าฝ่ายความมั่นคงล้านปีแสง ต้มยำทำแกงมานับไม่ถ้วน กระทั่งฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นเก่าก็อ้าปากค้าง ประเมินผิดหลายครั้งหลายครา

ม็อบพาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงอย่างไม่น่าเชื่อ ใครๆ ก็บอกว่าไม่น่าทำ ตั้งแต่ 18 กรกฎา 3 สิงหา 10 สิงหา 16 สิงหา 19 กันยา 14 ตุลา 16 ตุลา 26 ตุลา ฯลฯ ที่ไหนได้ ใครจะคิดว่ากระแสขึ้นมาถึงขั้นนี้

ด้านหนึ่งก็มาจากความเสื่อม ความไม่ชอบธรรมของอำนาจ ที่ประชาชนอัดอั้นมา 6 ปี อีกด้านหนึ่งก็มาจากวิธีจัดการโดยใช้กำลัง มากกว่าใช้สมอง อย่างวันที่ 13-14 ตุลา ประกาศฉุกเฉินร้ายแรงจับแกนนำ วันที่ 15 ม็อบยิ่งล้นหลามที่ราษฎร์ประสงค์ วันที่ 16 ใช้รถฉีดน้ำ ยิ่งระเบิดความโกรธแค้น ลามไปทั่วกรุงไปทั่วประเทศ เอาไม่อยู่ จนตู่ต้องถอย ศาลสั่งปล่อยแกนนำ

ม็อบวันที่ 18 คนมามากกว่า 15 ตุลา 25 ตุลา ด้วยซ้ำ เพราะความโกรธตำรวจ ใช้รถฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา สกัดม็อบไม่ให้ชุมนุมหน้ารัฐสภา ซ้ำยังปล่อยให้เกิดม็อบชนม็อบจนมีคนถูกยิง

ซึ่งเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เกินจำเป็น การชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีโทษแค่ปรับผู้จัดไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หากประกาศพื้นที่หวงห้ามเช่น 50 เมตรจากรัฐสภา ผู้จัดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน โดยถ้าจะสลายการชุมนุม ตำรวจต้องขออำนาจศาล

แต่นี่ตำรวจใช้วิธีกั้นแบริเออร์รั้วลวดหนาม เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ห้ามเข้า ทั้งที่ประชาชนควรมีสิทธิไปชุมนุมรอฟังผลการประชุมสภา พอการ์ดจะตัดลวดหนามเข้ามา ก็ฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา จนเป็นเหตุลุกลาม 5-6 ชั่วโมง โดยรัฐบาล ส.ว. ส.ส. ไม่แยแส ยังรุมบิดเบือนให้ร้ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ iLaw อย่างเมามัน

ถามกลับว่ามันจะเป็นอะไรนักหนา ถ้าคุณปล่อยให้ม็อบเข้ามาหน้ารัฐสภา ม็อบเลิกแล้วค่อยตั้งข้อหาแกนนำ ม็อบเปลี่ยนใจ ส.ส. ส.ว.ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าพวกเขาไม่พอใจปีนรั้วบุกสภา บุกทำร้าย ส.ส. ส.ว. ก็จะเป็นฝ่ายเสียหายทางการเมือง

เช่นกัน ถามว่าจะเป็นอะไรนักหนา ถ้ารับหลักการร่าง iLaw ที่ประชาชนแสนคนเข้าชื่อ พวก ส.ว.ตาขวางตาพอง ไล่ซักถาม ทำไมเสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ยกเว้นหมวด 1,2 ก็การเสนอแก้กฎหมายทั้งฉบับโดยไม่ยกเว้น ถือเป็นเรื่องปกติ การบอกว่าแก้ทั้งฉบับแต่ยกเว้นต่างหาก ที่ผิดปกติ (ร่าง iLaw มีมาก่อนม็อบเสนอปฏิรูปสถาบัน)

ถามจริง ต่อให้ไม่เขียนยกเว้น ใครคิดว่าจะแก้ได้บ้าง อย่างมากก็ได้แค่เสนอ ส.ส.ร.แม้มาจากเลือกตั้งทั้งหมดก็ไม่ให้ผ่านหรอก

ส.ว. ส.ส.รัฐบาลปิดทางทั้งหมด แล้วฉวยโอกาสอำนาจผลประโยชน์ตัวเอง คว่ำร่างฝ่ายค้านปิดสวิตช์ ส.ว. คว่ำร่างฝ่ายค้านแก้ระบบเลือกตั้ง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จึงกลายเป็นเครื่องมือค้ำตู่อยู่นาน 250 ส.ว.อยู่จนกว่าจะเลือก ส.ว.ใหม่ (เผลอๆ เกิน 5 ปี) พรรคร่วมรัฐบาลก็เปรมปรีดิ์ ปชป.ตีปี๊บ นี่ไงเราแก้รัฐธรรมนูญแล้วตามคำมั่นสัญญา ทั้งที่รัฐธรรมนูญใหม่อาจไม่แก้อะไรเลยในสาระสำคัญ เพราะ ส.ว. ส.ส.รัฐบาลกุมกลไกตั้ง ส.ส.ร.ไว้แล้ว

รัฐบาล ส.ส. ส.ว.คิดว่าทำอย่างนี้แล้วจะปิดกั้นข้อเรียกร้องของม็อบ ปัดออกจากกระบวนการทั้งหมด โดยไม่สำนึกว่าหากคุณจะปฏิเสธข้อ 3 ก็ควรยอมแลกข้อ 1 ข้อ 2 บ้างเพื่อลดกระแส และควรใช้วิธีการที่ Compromise กว่าแก๊สน้ำตา

ผู้มีอำนาจคิดว่าม็อบคนรุ่นใหม่หมดทางไป “ฝ่อแล้ว” ใช้กำลังได้อย่างรุนแรงโดยอ้างกฎหมาย ไม่ตระหนักเลยว่าแค่ 4 เดือน ม็อบแผ่ขยายไปแค่ไหน ได้ใจคนมากเท่าไหร่ พลังเงียบอยู่ข้างไหนกันแน่ (ทำไมฝ่ายตัวต้องไปขนคนมา 11 คันรถบัส)

ตรงกันข้าม คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในพลังของพวกเขา ของกองหนุน ของสังคม ซึ่งเบื่อหน่ายรัฐบาลเต็มที ม็อบจึงกล้าท้าทาย กล้าเสี่ยงสุดๆ กล้าวางเดิมพัน โดยไม่กลัวการจับกุมคุมขัง (ยิ่งจับยิ่งลุกฮือ) ไม่กลัวกระทั่งรัฐประหาร (ยิ่งเข้าทางตัน)

จับตาให้ดี ฝ่ายรัฐต่างหากจะยิ่งตกที่นั่งลำบาก

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน