บทบรรณาธิการ : ดราม่าเด็กดอย

ดราม่าเด็กดอย : การบริหารราชการที่รัฐบาลต้องแก้ไขคำแถลงเดิมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายไม่เพียงมีแต่สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดปรากฏกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย

เป็นกรณีดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับสาวคนดังในโลกออนไลน์ใช้เงินตนเองกว่า 5 แสนบาทไปช่วยเหลือเด็กบนพื้นที่ดอย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ความช่วยเหลือโดยตัวบุคคลดังกล่าวสะท้อนถึงความขาดแคลนของเด็กชนบท และเป็นหัวข้อให้เกิดเสียงทั้งวิจารณ์และชื่นชมอย่างกว้างขวางว่าความช่วยเหลือนี้เหมาะสมหรือไม่

ระหว่างการถกเถียงนี้ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน กศน.อำเภออมก๋อย ออกประกาศให้ ครูและบุคลากรปฏิบัติตามเพื่อป้องกันผลกระทบ

แต่จากนั้นไม่นาน รัฐมนตรีผู้กำกับดูแล กศน. ออกคำสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าว

เมื่อพิจารณาเนื้อหาประกาศแรกของ กศน.อมก๋อย จะเห็นถึงแนวคิดและการบริหารแบบหน่วยราชการ

ดังที่ปรากฏคำว่า การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผลดีและผลเสียต่อหน่วยงาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องรับมือก่อน คือต้องไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดผลเสีย

กติกาที่ตั้งขึ้นทันทีคือคำสั่งห้ามครูและบุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติเรื่องที่เสี่ยงจะถูกวิจารณ์ เช่น ห้ามโพสต์เกี่ยวกับการรับบริจาคทุกช่องทาง ห้ามตอบโต้ผ่านสื่อโซเชี่ยล และงดรับบริจาคทุกประเภท

น่าสังเกตว่าประกาศนี้ไม่ปรากฏว่ามีคำใดเอ่ยถึงความเกี่ยวโยงกับผลกระทบต่อเด็กในพื้นที่

ด้านคำสั่งของรมช.ศึกษาธิการ สะท้อนถึงการตัดสินใจจากฝ่ายการเมือง ซึ่งน่าจะวัดกระแสสังคมโดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์ที่รวดเร็วและตื่นตัวได้มากกว่าฝ่ายราชการ

จึงเป็นที่มาของคำสั่งว่า โรงเรียนในถิ่นทุร กันดารโพสต์ขอรับบริจาคได้หากขาดแคลน พร้อมขอบคุณประชาชนที่มีใจเอื้อเฟื้อให้การช่วยเหลือสังคม

จากคำสั่งนี้ ทำให้กศน.อำเภออมก๋อย ยกเลิกประกาศเดิมที่ใช้มาได้เพียงวันเดียว โดยระบุเหตุผลว่ามีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

กรณีตัวอย่างนี้บ่งบอกว่า หากการเมืองดี ระบบราชการดี ทั้งข้าราชการและ ฝ่ายการเมืองคงไม่ต้องมาเสียเวลาขบคิดวิธีจัดการกับดราม่าที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน