คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

จับกุมยามวิกาล – ถ้าตำรวจบุกจับผู้ร้ายยามวิกาลย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะไม่เกิดคำถามในสังคม

โดยเฉพาะถ้าเป็นคนร้ายก่อคดีอุกฉกรรจ์ ปล้น ฆ่า ข่มขืน ก่อการร้าย ค้ายาเสพติด ต้องรีบควบคุมตัวทันที เพราะถือเป็นอันตรายต่อสังคม ต้องรีบป้องกันไม่ให้ไปก่อเหตุซ้ำอีกได้

แต่การบุกจับกุมนักศึกษาปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหลังเที่ยงคืน วันที่ 13 ม.ค. เข้าสู่วันใหม่ 14 ม.ค. ตามข้อหามาตรา 112 ไม่เพียงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยประท้วงและต่อต้าน

ยังเกิดคำถามในสังคมด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำแบบนี้ทำไม ทำเพื่ออะไร คิดดีแล้วหรือไม่ ไม่ได้คิด หรือ คิดอะไรอยู่

การตั้งข้อหามาตรา 112 ดำเนินคดีแก่ผู้คนเป็น เรื่องที่ทำให้ประเทศไทยถูกมองจากนานาประเทศด้วยความวิตกกังวลอยู่แล้ว

หากเจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการจับกุมให้แปลกประหลาดเกินเลย รวมถึงการบุกจับกุมนักศึกษายามวิกาล ยิ่งตอกย้ำสภาพการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ของไทยที่ติดลบหนักตั้งแต่ปี 2563

ต่อเนื่องจากการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่สงบของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ภาพการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจลักษณะ เหล่านี้ไม่เป็นผลดีใดๆ เลยต่อรัฐบาลและต่อประเทศไทย

ต่อให้เจ้าหน้าที่อ้างกฎหมายที่เปิดช่องสนับสนุน ก็ยังเกิดคำถามเรื่องการใช้ดุลพินิจและความเหมาะสมในแนวทางสากล

การชุมนุมและเรียกร้องเนื้อหากฎหมายมาตรา 112 ของกลุ่มเยาวชนเป็นประเด็นทางการเมืองที่สังคมต้องร่วมกันพิจารณาหาจุดร่วมที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ใช้กฎหมายลักษณะนี้ทำร้ายกันเองจนส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวม

ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ไทยยุติการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่นๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ

หากเจ้าหน้าที่ยังคงยืนกรานจะดำเนินคดีต่อไป ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาเทียบเท่ากับโจร ที่ทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย

ยิ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นเยาวชน การบุกไปจับกุมยามวิกาลเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ยิ่งต้องคิด และคิดให้เป็นว่าได้ทำอะไรลงไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน