เหยื่อที่อ่อนแอที่สุด : บทบรรณาธิการ

 

คดีความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงต่อเด็ก เพิ่มความร้ายแรงที่กระทบจิตใจผู้คนจำนวนมากอีกครั้ง จากกรณีปู่ทำร้ายทางเพศต่อหลาน อายุ 11 ขวบ จนหลานตั้งท้องก่อนวัยและเสียชีวิตในที่สุด

ช่วงเวลาเดียวกันมีคดีที่สมาชิก อบต. ล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุ 12 ปี และคดีที่พ่อเมา ยาเสพติดและข่มขืนลูกสาวอายุ 13 ปี

คดีน่าสลดใจเหล่านี้กำลังตอกย้ำว่าสังคมกำลังมีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่มากในสถาบันครอบครัว

ยังไม่มีการศึกษาวิจัยว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความรุนแรงลักษณะนี้ต่อเด็กที่อายุน้อยลงเช่นนี้ และยังไม่มีแนวทางสำหรับการป้องกันสำหรับเด็กคนอื่นๆ ที่อาจตกเป็นเหยื่อ

ช่วงเวลาที่สังคมตึงเครียดจากโรคระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศในไทยไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิดหรือให้ทางการรับรู้

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความรุนแรงในครอบครัวของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 66

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงนี้ ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด

เมื่อพิจารณารายงานของ UNODC ดังกล่าวรวมกับสภาพสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ จะเห็นแนวโน้มว่าผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้มากที่สุด

เพราะผู้หญิงและเด็กถูกจัดเป็นสมบัติ หรือสิ่งครอบครองในครอบครัวที่ผู้ชายเป็นใหญ่

ที่น่าสังเกตคือสถิติข่าวที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมเมื่อปี 2563 ช่วงครึ่งปีแรกที่โรคโควิด-19 ระบาดหนักและมีมาตรการล็อกดาวน์นั้น จำนวนข่าวความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 12 และเพิ่มจากปี 2559 ถึงร้อยละ 50

สถิติและข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐควรต้องศึกษาความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ตึงเครียดทางเศรษฐกิจ กับค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ ประเภทเสียศักดิ์ศรีหรือเสียหน้าไม่ได้ ทั้งที่ไม่อาจแบกความรับผิดชอบทางการเงินและความมั่นคงอื่นๆ จนนำไปสู่การกลบเกลื่อนด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้อ่อนแอกว่า และผู้อ่อนแอที่สุดคือเด็ก

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน