คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แนวโน้มปรับลดจีดีพี – การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุชัดว่าจะไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก

พื้นฐานข้อมูลนี้มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงน้อยกว่า ภาครัฐมีมาตรการควบคุมเข้มงวดน้อยกว่า และภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

แม้การระบาดกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่า แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ขณะที่ความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น รวมทั้งแผนรับวัคซีนเริ่มมีความชัดเจน

แต่มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2564 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.2

เพราะตัวเลขดังกล่าวประเมินก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะลุกลามเป็นวงกว้าง และยังมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนอีกมาก

สำหรับแนวทางการประเมินรอบใหม่มี 3 สถานการณ์ พิจารณาจากมาตรการใช้ควบคุมโรคระบาด

กรณีแรก คุมแบบปานกลาง ใช้เวลานาน ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 1-1.5

กรณีที่สอง คุมแบบเข้มข้นเหมือนรอบแรก มีผลต่อจีดีพีร้อยละ 2-2.5

กรณีที่สาม คุมแบบปานกลางก่อน แต่หากไม่ได้ผลต้องคุมแบบเข้มข้น สถานการณ์นี้จะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีถึงร้อยละ 3-4

การประเมินทั้ง 3 กรณีนี้ ธปท.ระบุว่ายังไม่ใช่ตัวเลขหักลบกับตัวเลขจีดีพี เพราะยังไม่มีการรวมผลจากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและการคลัง ความคืบหน้าเรื่องการกระจายวัคซีน

ด้านผลกระทบด้านแรงงาน คาดว่ากลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 4.7 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและผู้มีอาชีพอิสระ

รายได้คนกลุ่มนี้จะลดลงมากและหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยถ่วงรั้งการบริโภค และหลีกเลี่ยงได้ยาก

อย่างไรก็ตามการลดผลกระทบอยู่ที่การออกมาตรการเพื่อแก้ไข โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้

สิ่งสำคัญอยู่ที่การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินได้เป็นปกติ

ดังนั้นโจทย์ต่างๆ เหล่านี้จะวัดประสิทธิภาพรัฐบาลครั้งสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน