แม้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากคดีโครงการจำนำข้าว เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท และเพิกถอนคำสั่งการยึดอายัดทรัพย์แล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าคดีนี้ยังไม่จบ เพราะต้องอุทธรณ์ต่อไป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในรัฐบาลระบุว่าการยึดทรัพย์มีชนะบ้างแพ้บ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ได้มีปัญหาอะไร

คำพูดนี้แม้เข้าใจได้ง่าย แต่น่าประหลาดใจว่า เหตุใดคำสั่งของหน่วยงานราชการที่ถูกตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงกลายเป็นเรื่องแพ้-ชนะ

และน่าสงสัยต่อไปว่า การยึดอำนาจรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2557 เป็นเรื่องแพ้-ชนะ ด้วยหรือไม่

หากการรัฐประหารปี 2557 เป็นเรื่องแพ้-ชนะ เหมือนกับมุมมองการต่อสู้คดียึดทรัพย์และเรียกเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผลแห่งความพ่ายแพ้นั้นปรากฏชัดเจนแล้ว

นั่นคือความเสียหายทางระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน

ขณะที่การโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ปิดกั้นโอกาสในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด รวมถึงการตรวจสอบวัดผลโครงการจำนำข้าวโดยประชาชนคนส่วนใหญ่

ข้อกล่าวหาแห่งการทุจริตถูกประโคมและตีขลุมโครงการทั้งหมดในช่วงการประท้วงเป่านกหวีดและการยึดอำนาจ โดยไม่แยกแยะจุดของการรั่วไหลของงบประมาณและการคอร์รัปชั่น ว่าอยู่ที่ต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง

ผู้ตัดสินใจเดินหน้าหรือปิดฉากโครงการนี้กลับไม่ใช่ประชาชน

ปัจจุบันมีโครงการของรัฐบาลหลายโครงการ รวมถึงส่วนที่มุ่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

มีหลายโครงการที่สะดุด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกตรวจสอบพบช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต ฉ้อฉล ทั้งจากส่วนราชการ และบุคคลทั่วไป

แต่โครงการรับจำนำข้าวในอดีตไม่มีโอกาสและกระบวนการแบบนี้ เพราะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ อีกทั้งยังมีการใช้มาตรา 44 ออกมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเอาผิดและยึดอายัดทรัพย์สินของอดีตนายกฯ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากมีการฟ้องร้องเอาผิดกันภายหลัง

การวางเกราะแห่งอำนาจไว้เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องผิดปกติ และน่าสงสัยว่ามีที่มาจากแนวความคิดเรื่องแพ้-ชนะด้วยหรือไม่

ถ้าใช่ ฝ่ายที่ปราชัยยังคงเป็นประชาชนอีกเช่นเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน