24 มิถุนายน – ยํ่ารุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร

นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหล โยธิน) หัวหน้าสายทหาร และหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าสายพลเรือน ร่วมกันอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

เป็นปรากฏการณ์สำคัญ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ของประเทศ ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน

โดยเฉพาะรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีผู้แทนราษฎรจากการเลือกของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ตรากฎหมาย ปกครองและบริหารประเทศตามเจตจำนง และฉันทามติส่วนใหญ่ของประเทศ

เป็นรากฐานสำคัญ และความเจริญของชาติ

ทว่าการดำรงอยู่ในอำนาจของคณะราษฎรมีอายุเพียงแค่ 15 ปี เนื่องจากถูกโค่นล้มจากเครือข่ายระบอบเก่า กองทัพ และกลไกราชการ ผ่านการรัฐประหารหลายครั้งจวบจนปัจจุบัน จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รัฐประหารมากที่สุด

อีกทั้งกลุ่มชนชั้นนำ กองทัพ และฝ่ายอนุรักษ นิยมทางการเมืองพยายามด้อยคุณค่า ไม่ให้ความสำคัญ พยายามลบ บิดเบือน และทำลายประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475

และเจตจำนงของคณะราษฎร ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตย ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมือง สร้างความเหลื่อมล้ำ เกิดการผูกขาดทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ สร้างผลสะเทือนในหลายๆ ด้านต่อชาติบ้านเมือง

ดังที่ปรากฏและประสบกันทุกวันนี้ ในวาระ 89 ปี

24 มิถุนายนปีนี้ ตรงพอดีกับ การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพ.ศ.2560 ซึ่งเป็นผลพวงจากคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ท่าม กลางกระแสเรียกร้องให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

รวมทั้งการตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะเผด็จการรัฐประหาร แต่กลับมีอำนาจเหนือกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน

ขณะเดียวกัน การชุมนุม การจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนเห็นต่างยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวในนามคณะราษฎร 2563 ที่ตื่นตัวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ทวงถามปัญหาสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม

ทั้งหมดนี้จะร้อนแรงและแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน