คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

มรดกโลกกับไทย – การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ของปีค.ศ.2021 จัดที่เมืองฝูโจว ประเทศจีน เป็นวาระชวนระทึกสำหรับประเทศไทยอีกครั้ง

ตอกย้ำว่า การบริหารจัดการพื้นที่ป่า ธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

อะไรก็ตามที่เป็นมรดกโลกแล้ว ย่อมหมายถึงเป็นเรื่องของคนทั้งโลก ใช้มาตรฐานโลก ไม่ใช่แค่ของไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่งอีก

การทำตามกติกาโลก จึงเป็นที่จับตาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งยังมีหน่วยงาน ชุมชน องค์กรเอกชนอื่นๆ ส่งข้อมูลหลักฐานให้ประกอบการพิจารณา

คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินใจเรื่องแต่ละเรื่อง แต่ละปี จากองค์ประกอบหลายด้านหลายมุม ไม่ใช่จากเอกสารของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

การประชุมครั้งนี้ พื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รอดถูกถอดพ้นมรดกโลกอย่างโล่งอก

แต่ความโล่งอกก็แลกมาด้วยการบ้านมากมายซึ่งที่ประชุมขอให้ไทยปฏิบัติตามข้อมติที่สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) เสนอมา เพื่อให้แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

โดยเฉพาะกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ การติดตามการดำเนินงานภายหลังการสร้างเขื่อนห้วยโสมง และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304

กรณีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับปากแล้วว่าจะดำเนินการ และส่งการบ้านต่อไป ภายในกำหนดวันที่ 1 ก.พ. 2565

ส่วนการบ้านใหญ่อีกเรื่องที่ยืดเยื้อมาหลายปีและยังเป็นข้อขัดแย้งกับองค์กรระหว่างประเทศ คือ การขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

เนื่องจากประเด็นชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิรอการตัดสินแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมยังคาราคาซังอยู่ จนเป็นที่รับทราบขององค์กรนานาชาติ

ในที่นี้รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ว่าจะต้องคิดให้หนัก คิดให้ดีๆ

แม้ว่าทางการไทยยืนยันไปว่าแก้ปัญหาตามหัวข้อการบ้านที่ส่งมา แต่ในมุมมองฝ่ายอื่นกลับไม่ตรงกัน โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน

สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกย่อมขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มป่าแก่งกระจาน มีมาตรฐานโลกแล้วหรือยัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน