คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ระหว่างการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศมีเรื่องกระทบกระทั่งสื่ออยู่เป็นระยะ เนื่องจากกระแสข่าวที่อยู่ในช่วงโรคระบาดย่อมมีเรื่องความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล มากบ้างน้อยบ้าง

แม้ประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี ตำหนิสื่อโซเชี่ยลยักษ์ใหญ่ ว่าเอื้อต่อการปล่อยข่าวปลอม หรือ เฟกนิวส์ มีผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งหวาดกลัวการฉีดวัคซีน

แต่เฟซบุ๊กตอบโต้ว่า ตนเองมีระบบตรวจสอบข่าวปลอมอย่างเคร่งครัด หากรัฐฉีดวัคซีนให้ประชาชนไม่ได้ตามเป้าอย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่ควรโยนมาเป็นความผิดของสื่อ

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ทุกฝ่ายมีสิทธิที่จะโต้แย้งและชี้แจงด้วยเหตุผลให้ประชาชนตัดสิน มิใช่การใช้อำนาจรัฐปิดกั้นอีกฝ่าย

กรณีของไทย เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ มาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ฟ้องร้องเอาผิดและลงโทษสื่อและบุคคลมีชื่อเสียง จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายวิตกกังวล

เพราะไม่เพียงจะสร้างผลกระทบด้านเสรีภาพสื่อมวลชน การแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ยังสุ่มเสี่ยงถึงการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือสื่อที่มีความเห็นต่อรัฐบาลต่างกัน

ยิ่งเมื่อรัฐบาลแจ้งว่าต้องการสกัดกั้นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้ประชาชนมีความหวาดกลัว หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเจตนา

คำว่าเจตนานี้เองที่เป็นข้อขัดแย้งใน การตีความที่ผู้มีอำนาจเลือกได้ว่า จะมอง ผู้สื่อสารอย่างไร

หากสื่อหรือบุคคลที่ชื่นชอบสนับสนุนรัฐบาล เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับวัคซีนหรือสถานการณ์โควิดที่ผิดโดยไม่ตรวจสอบ กับอีกกรณีที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ทั้งสองกรณีนี้หากถูกตีความต่างกัน ถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน จะยิ่งเกิดความขัดแย้งในสังคม

เช่นเดียวกับการรายงานการเสียชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดมากมายและอาจซับซ้อนจนเกินกว่าการใช้กฎหมายตัดสิน ทางที่ดีที่สุดสำหรับสังคมประชาธิปไตยคือให้ประชาชนตรวจสอบ โต้แย้ง และวิจารณ์โดยสุจริต

ดีกว่าใช้กฎหมายหว่านเหมารวม และ เสียเวลาบริหารงานที่สำคัญและจำเป็นมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน