คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

รอฟ้ารอฝน

ช่วงพายุเข้าและฝนตกในฤดูมรสุมตลอด 1-2 เดือนมานี้ มีทั้งรายงานว่าหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย บ้านเรือน ถนนหนทาง และเรือกสวนไร่นา ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย

ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่าบางพื้นที่แล้งมานานได้รับน้ำที่เป็นผลดีกับการกักเก็บน้ำที่จะเป็นผลดีต่อการเกษตรและอื่นๆ

ส่วนทางราชการมีหน้าที่ประกาศคำเตือนว่าพื้นที่ใดเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม ฯลฯ

แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปและควรต้องมีในทุกฤดูมรสุม คือข้อมูลอัพเดตสถานการณ์บริหารจัดการน้ำทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ

รัฐบาลเปิดแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งแต่ต้นปี 2564

เต็มไปด้วยแผนงานและโครงการต่างๆ เกิน 48,000 รายการ และมีวงเงิน 3.6 แสนล้านบาท

พร้อมระบุว่า สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

เมื่อรัฐบาลมีแผนจัดการน้ำมาตั้งแต่เมื่อปี 2561 ในยุคคสช. ถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นระยะ

อย่างน้อยควรมีรายละเอียดที่ทำให้เห็นภาพได้ว่า พายุหรือฤดูมรสุมแต่ละครั้ง โครงการที่ทำไว้ช่วยกักเก็บน้ำได้กี่เปอร์เซ็นต์ ขาดหายน่าเสียดายไปเท่าใด เพราะอะไร จะต้องจัดการเร่งด่วน หรือจัดการระยะกลางและระยะยาวอย่างไร

รวมถึงการใช้เงินงบประมาณแต่ละพื้นที่คุ้มค่าเพียงใด

สถานการณ์ล่าสุดที่พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ มีผลต่อพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝ่ายราชการที่รับบทบาทหลักยังคงเป็นกระทรวงมหาดไทย

ทั้งประกาศเตือนประชาชน และสั่งการจัดทีมช่วยเหลือ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า

แต่เมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้ว ภารกิจของรัฐบาลไม่ควรจบแค่ซ่อมแซม เยียวยาความเสียหาย ซึ่งเป็นงานเชิงรับ

ในเมื่อมีแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำแล้ว ต้องทำงานให้เห็นในเชิงรุก ว่าไม่ได้แค่รอฟ้ารอฝนเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน