FootNote:กัมปนาท เสียงปืน พื้นที่ดินแดง ‘คำตอบ’ สำคัญยิ่ง ต่อ ‘สังคม’

มีความจำเป็นที่จะต้องสะสางความคลุมเครือต่อสถานการณ์ อันเกิดเกิดขึ้นกับตำรวจ ‘หน่วยควบคุมฝูงชน’ หรือ ‘คฝ.’ ในพื้นที่ดินแดงเมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม

การสะสางในที่นี่โดยพื้นฐานก็คือ การนำเอาตัว ‘มือปืน’ เจ้าของกระสุนที่ทะลวงเข้าไปในศีรษะของ ‘คฝ.’

บทบาทของกองบัญชาการตำรวจนครบาลนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป้าหมายก็คือเข้าไปสะสาง เพื่อทำความกระจ่างให้กับรูปคดี

ไม่ว่าจะเป็นการส่งกำลังตำรวจไม่ต่ำกว่า 2 กองร้อย เข้าประจำบริเวณรอบแฟลตดินแดง เพื่อปิดล้อมและกระชับพื้นที่ ประสานกับการสร้างมวลชนสัมพันธ์ด้วยการแจกอาหารเครื่องอุปโภคบริโภค

ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ‘ผู้ต้องสงสัย’ ระลอกแล้ว ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม เรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 ตุลาคมรวมแล้วกว่าร้อย

เป็นจำนวนกว่าร้อย ‘ผู้ต้องสงสัย’ ซึ่งต้องการ ‘คำตอบ’

เพราะหากการกวาดต้อน ‘ผู้ต้องสงสัย’ จำนวนมากถึงเพียงนี้ แล้วยังไม่มี ‘คำตอบ’ ก็จะกลายเป็นการจับอย่างชนิดเหวี่ยงแห

ไม่ว่าตำรวจจะยกระดับการนิยามการเคลื่อนไหวในพื้นที่สามเหลี่ยม ดินแดง บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม กระทั่งมาถึงเดือนตุลาคมเป็นอย่างไร

จาก ‘ผู้ชุมนุม’ ในเบื้องต้นกลายเป็น ‘ผู้ก่อเหตุ’ กระทั่งสรุปอย่างรวบรัดว่าเป็น ‘ผู้ก่ออาชญากรรม’

กระนั้น สภาพความเป็นจริงซึ่งสะสมมาอย่างต่อเนื่องทุกเย็น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม คือการเคลื่อนไหวเพื่อประกาศความไม่พอใจในทางการเมือง

จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะเข้าไปพบนายกรัฐมนตรีอัน เป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

หากไม่เข้าใจความต้องการโดยพื้นฐานก็ไม่เข้าใจปัญหาที่เกิด

การที่มีการใช้กระสุน ‘จริง’ ในสถานที่เกิดเหตุมิได้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 6 ตุลาคม เป็นหนแรก ตรงกันข้าม เคยเกิดขึ้นมาแล้วหน้าสน.ดินแดง ในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคม

ปมจึงอยู่ที่ว่า ‘ตำรวจ’ สามารถคลี่คลายกระจ่างได้หรือไม่

หากเรื่องตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมายังเดือนตุลาคมไม่สามารถคลี่คลายเป็นคำตอบอย่างกระจ่างสว่างแก่ใจต่อสังคม

นั่นหมายถึงภาระที่ตำรวจจักต้องแบกรับอย่างหนักหนา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน