บทบรรณาธิการ

ด่านสมาชิกวุฒิสภา

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นไปด้วยความยุ่งยากและลำบาก ถูกขัดขวางทั้งจากสมาชิกรัฐสภาเองและกลุ่มอำนาจปัจจุบัน

มีความพยายามยื่นแก้ไขหลายครั้ง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้อง ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่ามีความประสงค์หรือไม่ และเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว ก็ต้องให้ลงประชามติเห็นชอบอีกครั้ง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องได้คะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน

ที่ผ่านมารัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไข ไปทั้งหมดแล้ว 8 ร่าง ผ่านได้แค่ 1 ร่าง ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้ 2 ช่วงระยะเวลา ช่วงที่ 1 ให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มีทั้งสิ้น 250 คน เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 194 คน และมาจากการสรรหาใน 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 50 คน

ช่วงที่ 2 เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ให้วุฒิสภามีจํานวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม

ล้วนแต่ไม่ยึดโยงกับประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากวุฒิสภาจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว วุฒิสภาชุดแรกยังมีหน้าที่และอํานาจเพิ่มเติมตามบท เฉพาะกาลด้วย การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ใน บางเรื่อง

ที่สำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก ทั้งกรณีที่แต่งตั้งจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ และกรณีที่ไม่อาจ แต่งตั้งจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรค การเมืองแจ้งไว้

อำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นประเด็นที่นำไปสู่การแก้ไขให้ยกเลิกทุกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน