รายงานพิเศษ

‘แบงก์ชาติ-เอกชน’ร่วมวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

แม้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์-การเงิน เศรษฐกิจไทยจะเดินไปทางไหน และมีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่น่ากังวลบ้าง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า 40 ปีผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้ายๆ เดิม พึ่งพาการส่งออกในภาค เศรษฐกิจเดิมๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว

ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

“เห็นได้จากการส่งออก ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้วโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่าและปีที่ผ่านมาส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญนอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวและว่า ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงานโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า

ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสต้องใช้เวลานานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่า กับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด จะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

ล่าสุดการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อมไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140

สะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิมๆ ในช่วงที่ผ่านมา

“หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ และถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ 1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น”

ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ

ในภาพรวมต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้าจะมีอย่างน้อย 2 กระแส คือ

1.กระแสดิจิทัล ที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง

และ 2.sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนภาครัฐต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ภาคส่วนอื่นๆ ทำไม่ได้

โดยมีสองส่วน ส่วนแรก การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน ส่วนที่สอง เร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่างๆ การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แม้จะมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ หากไม่รุนแรงมาก ก็น่าจะผ่านพ้นไปได้

อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่มั่นคงนักจากความไม่แน่นอน ประกอบกับความเปราะบางจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น จากราคาพลังงาน และสินค้าเกษตรแต่เชื่อว่าจะเป็นการชั่วคราว ซึ่งสุดท้ายอัตราเงินเฟ้อจะกลับลงมาสู่ระดับต่ำ

ดังนั้น คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไปได้ถึงสิ้นปี 2565 และในเวลานั้นเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับที่ก่อนเกิดโควิดได้ ซึ่งถือว่าประเทศไทยใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าประเทศอื่นๆ ในการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด

“ส่วนของตลาดแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการระบาดของโควิด ทำให้มีผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม และอัตรา การว่างงานที่ยังคงตัวในระดับสูง ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยต่อในปีหน้า”

ขณะที่ภาคธุรกิจไทยจะฟื้นตัวไม่เท่ากันหรือฟื้นตัวรูปตัว ‘K’ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจะฟื้นตัวได้ดี หรือ K ขาบน ส่วนท่องเที่ยว ภาคบริการ และอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ใน K ขาล่าง

‘แบงก์ชาติ-เอกชน’ร่วมวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

จากความเปราะบางของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ฐานะการเงินของธุรกิจและครัวเรือนยังไม่ดี ธปท. มองว่าในภาวะเช่นนี้ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพิ่มแรงส่งให้เศรษฐกิจไทย

เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะในบางภาคอุตสาหกรรมอาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นภาคที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมถึง 10% ของจีดีพี และมีการจ้างงานโดยรวมประมาณ 3 ล้านคน

ฟากเอกชนโดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากก.ย.-ต.ค.

เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด เป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดประเทศ จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกับประธานหอการค้าภูมิภาค และจัดทำการสำรวจความเห็นทางออนไลน์ 350 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว และน่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นต้นไป

ชี้ให้เห็นว่าภาพเศรษฐกิจมหภาคฟื้น เห็นผลในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ไปถึงระดับภูมิภาค แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแต่ก็เปิดเฉพาะพื้นที่สีฟ้า 4 จังหวัด ขณะที่เอสเอ็มอียังเข้าไม่ถึงโอกาสทางธุรกิจ

ส่วนปีหน้าปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปีหน้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2565 หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 94.1% ของจีดีพีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 92.6% ของจีดีพี

ประเด็นที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทย คือ

1.รัฐต้องควบคุมการแพร่ระบาดและการเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะถ้าการติดเชื้อในประเทศลดลงก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว

2.ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่อาจใช้มาตรการจำกัดเฉพาะบางกิจกรรมที่มีปัญหา

3.ผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดกิจกรรมได้ตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนควรเปิดให้ได้ในปีหน้า

4.จัดซอฟต์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs

5.กระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่ควรขยายวงเงินเพิ่มอีกรายละ 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 9 หมื่นล้านบาท

และ 6.การทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีกลับมาคึกคัก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ทั้งหมดนั้นคือการวิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ แน่นอนว่าผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาหามาตรการป้องกัน แก้ไข และรับมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน