คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การเมืองดันเศรษฐกิจ

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสรุปข้อมูลเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเรื่องที่น่าขบคิด

โดยเฉพาะภาพรวม 40 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคล้ายเดิม ทั้งที่บริบทของโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

ไทยยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว

มีตัวเลขเปรียบเทียบว่า การส่งออกเวียดนามแซงไทยไปแล้ว ช่วง 5 ปีมานี้อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปี 2563 ส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.65 ล้านล้านบาท

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทย ร้อยละ 60 ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า ส่วนการท่องเที่ยวยังปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมได้น้อยมาก

การพูดถึงจุดอ่อนและภาพลบดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ตรงไปตรงมาและสำคัญสำหรับประชาชนคนทั้งประเทศ

ดีกว่าหยิบยกเอาเฉพาะการจัดอันดับที่เป็นผลบวกแต่กับรัฐบาล แต่ไม่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจตามความเป็นจริง

คำแนะนำที่แบงก์ชาติหาทางออกให้ ระบุถึงการเร่งปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิตอล และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลเพียงวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน ปรับกฎระเบียบต่างๆ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ แต่ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น

หากพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจและคำแนะนำดังกล่าว ปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตย

การที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมมา 40 ปี เพราะรัฐประหารบ่อยครั้งฉุดรั้งและแช่แข็งการพัฒนาประชาชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา

เมื่อกลุ่มคนมีความสุขดีกับสถานการณ์นี้เป็นกลุ่มถือครองอำนาจและผูกขาดการตัดสินใจ ระบบราชการจึงไม่เอื้ออำนวยให้การปรับตัวของสังคม บีบให้ภาคเศรษฐกิจจมอยู่กับการหารายได้แบบเดิม และไม่เปิดโอกาสให้แข่งขัน

ดังนั้นถ้าจะแก้ไข ต้องเร่งเครื่องพัฒนาประชาธิปไตยเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน