‘อ๋อย’ งง! ระดับ ‘บิ๊กป้อม’ ยืมนาฬิกาเพื่อน ชี้ต้องแก้ รธน. ยุบ ป.ป.ช.เดิมทั้งคณะ!

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช. พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเตรียมความพร้อมการลงพื้นที่หาเสียง และตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง

จากนั้น นายจาตุรนต์ แถลงภายหลังการประชุมว่า จากการที่พรรคได้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้พบปัญหาที่ชัดเจนว่า ประชาชนมีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงมาก เราจะนำข้อเสนอที่ท่านได้สะท้อน นำมาทำเป็นนโยบาย โดยพรรค ทษช.จะเน้นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลัก นอกจากนี้เราได้รับการตอบรับดีจากคนในพื้นที่ โดยหลังปีใหม่ไปแล้วเราจะปรับรูปแบบการพบปะประชาชน โดยการปราศรัยและพบปะกับคนจำนวนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จุดสำคัญที่พรรคจะเน้น คือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจทุกรูปแบบ คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติไม่สั่งฟ้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กรณีนาฬิกาหรูนั้น ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ไม่ผิดคาด โดยเหลือเชื่อว่า ป.ป.ช.จะสามารถตรวจสอบที่มาของนาฬิกาทุกเรือนได้ ว่าไปซื้อที่ไหน เมื่อไร และให้ยืมเมื่อไรได้ครบทุกเรือน และเหลือเชื่อที่ ป.ป.ช.เชื่อว่าบุคคลระดับรองนายกฯ ที่มีตำแหน่งและฐานะทางเศรษฐกิจดีอย่างนั้น จะใช้ชีวิตอยู่โดยการยืมนาฬิกาคนอื่นใช้อย่างต่อเนื่องหลายๆ เรือนสลับกันไป

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ตนมองว่าสังคมคงไม่เชื่อตามเสียงส่วนใหญ่ของ ป.ป.ช. และไม่ทำให้ประชาชนหายจากความเคลือบแคลงใจได้ ทั้งนี้ ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าระบบการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศนี้มีปัญหา ไม่น่าเชื่อถือ เราต้องอยู่กับระบบการตรวจสอบการทุจริตที่ไม่สามารถไว้วางใจว่าจะทำอะไรอย่างตรงไปตรงมา

“ทั้งหมดนี้เป็นปัญหามาจากการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการแทรกแซงจากรัฐบาลและ คสช. เมื่อตั้งแล้วก็อาศัยช่องว่างในการออก พ.ร.บ.ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช.อยู่ต่อไปหลายปีในวันข้างหน้า ทั้งที่กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติในการเป็น ป.ป.ช. บางคนมีความใกล้ชิดชิดสนิทสนมกับคนในรัฐบาล และเป็นคนที่ถูก ป.ป.ช.สอบด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้จึงขาดความชอบธรรมในแง่ที่มา”

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นยังมีปัญหามากไปกว่าที่ตนพูด คือมีการใช้อำนาจ คสช.ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตภาครัฐขึ้น และตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีอำนาจกว้างขวางขึ้นด้วย ตนจึงมีคำถามว่าเมื่อ คสช.พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คณะเหล่านี้จะอยู่ในสภาพอย่างไร และระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นจะทำกันต่อไปอย่างไร ที่สำคัญเมื่อ ป.ป.ช.ถูกแทรกแซงมาตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.ก็ขาดความเป็นองค์กรอิสระอย่างชัดเจนมาแต่ต้น และยังมีการวางระบบที่ คสช.และคนในรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวอยู่ในคำสั่งสำคัญๆ

“ไม่รู้ว่าคำสั่งเหล่านี้จะอยู่ในสถานะอะไรต่อไป บางคำสั่งขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จนไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ สภาพเหล่านี้จะไม่หมดไปตราบใดที่ คสช.ยังอยู่ในอำนาจ แต่ให้ คสช.พ้นจากอำนาจไปแล้ว ป.ป.ช.ก็ยังถูกยึดโยงกับบุคคลสำคัญใน คสช. และถ้าคนเหล่านี้ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาล เราก็จะได้ระบบการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ไม่มีองค์กรอิสระ ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและ คสช.”

เมื่อถามถึงธงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะที่มาของ ป.ป.ช. นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ ต้องแก้ ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ช. หากเราสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เร็ว ก็จะแก้ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นอยู่พ้นจากตำแหน่ง แล้วสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน