จับตาภัยคุกคาม รัฐบาลประยุทธ์2

จับตาภัยคุกคาม รัฐบาลประยุทธ์2 – การต่อรองจัดตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ผ่านมาระยะหนึ่ง ยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ก็ชัดเจนขึ้นตามลำดับ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้กลับเข้าสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ส.ส. 251 เสียง กับส.ว. 249 เสียง รวม 500 เสียง

เปิดทำเนียบรัฐบาลทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา เข้าดำรงตำแหน่งเต็มตัว

จับตาภัยคุกคาม รัฐบาลประยุทธ์2

งานหินอย่างแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญคือการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่ดึงมาเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดจิ๋ว รวมทั้งสิ้น 18 พรรคหรือที่เรียกกันว่า มหกรรม “แบ่งเค้ก”

หากจับคำให้สัมภาษณ์ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเห็นได้ว่า

ข้อตกลงจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีที่ทั้งสองพรรคตกลงไว้กับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำทีมโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค

“ปิดดีล”ไปเรียบร้อยตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย ได้รับเสียงโหวตสนับสนุนขึ้นเป็นประธานรัฐสภา จากส.ส.เสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งสภาล่าง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม

ส่วนกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐเตรียมเบี้ยวสินสอด ทวงคืนกระทรวง“เกรดเอ” ไม่ว่าเกษตรฯ พาณิชย์ หรือคมนาคม สุดท้ายก็ความแตกว่าเป็นแค่การปล่อยข่าวจากบางกลุ่มการเมืองภายในของพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้ “กลุ่มสามมิตร” เห็นว่า พลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ควรเก็บกระทรวงเกรดเอไว้กับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องสร้างผลงาน สานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ ตามที่วางรากฐานเอาไว้ในยุครัฐบาลคสช. ไม่ควรนำไปแจกจ่ายให้พรรคร่วม

อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องกดดันของกลุ่มสามมิตร ทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับแกนนำพลังประชารัฐ ที่ได้ไปเจรจาแลกเปลี่ยนกับพรรคร่วมอื่นๆ ไว้ลงตัวหมดแล้ว

หากรื้อใหม่จะกลายเป็นเสียสัจจะ เปรียบเสมือนตกลงกันว่าจะให้สินสอดเท่านั้นเท่านี้ แต่พอถึงเวลาจริงกลับไม่ส่งให้ตามจำนวน ทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากพรรคร่วมอีกต่อไป

แต่ขณะเดียวกันหากไม่จัดสรรชิ้นเค้กให้กลุ่มสามมิตรจนเป็นที่พอใจ ปัญหาวุ่นวายในพรรคก็จะไม่จบ

เผลอๆ ยังจะทำให้เกิดอาการเรือแตกตั้งแต่ยังไม่ทันออกจากฝั่ง

สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐต้องหาทางออกด้วยการโยนให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนตัดสินชี้ขาด

โดยอ้างว่านายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาลย่อมมีอำนาจพิจารณาว่าใครสมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใด

สรุปคือการแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ที่ยังมีปัญหาไม่ลงล็อก

จนเป็นเหตุให้ห้วงเวลาการต่อรองช่วงชิงต้อง ยืดยาวออกไปหลังประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน เสร็จสิ้นเสียก่อน

ต้นเหตุมาจาก“สนิม”ภายในพรรคพลังประชารัฐ

การแก่งแย่งผลประโยชน์กันเองภายในพรรคแกนนำ นำมาสู่กระแสข่าวที่ว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่ภายในเดือนกรกฎาคม

ผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แทนนายอุตตม สาวนายน ซึ่งดูเหมือนบารมีไม่กล้าแกร่งพอจะควบคุมพรรคการเมืองที่ประกอบไปด้วย“มุ้ง”ต่างๆ จำนวนมาก

โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ทำหน้าที่ประคับประคอง รวมถึงเป็นกาวใจประสานรอยร้าวระหว่างมุ้ง

ขณะเดียวก็มีชื่อของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ว่าที่รมว.พลังงาน ตัวแทนนายทุนพรรครายใหญ่ ผงาดขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค แทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จากกลุ่ม 4 กุมาร

ในส่วนของพรรคร่วมซึ่งมีจำนวนมาก ข้อเสียคือทำให้รัฐบาลเกิดปัญหาเสถียรภาพ

และเมื่อพรรคมอบหมายให้เป็นผู้ชี้ขาดการจัดวางตัวรัฐมนตรีทั้งหมด ก็หมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ ต้อง เป็นผู้รับผิดชอบ ยอมรับผลที่จะตามมาไม่ว่าโฉมหน้า “ครม.ประยุทธ์ 2” จะทำให้ประชาชนเจ้าของประเทศ

ส่งเสียงร้องยี้ หรือส่งเสียงชื่นชม

นอกจากเค้าลางของความขัดแย้งในเรื่องโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีที่ต้องจัดแบ่งให้ลงตัว

การกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด เป็นหัวข้อที่สังคมไทยและสังคมภายนอกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

เริ่มตั้งแต่สูตรพิสดารคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ มีผลเพิ่มเสียงให้พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกันก็ลดทอนเสียงพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

มาถึงประเด็นกระบวนการได้มาซึ่ง 250 ส.ว. ที่เมื่อเปิดเผยชื่อ 10 กรรมการสรรหาออกมากลับพบว่ามีจำนวนถึง 6 คนได้รับสรรหาเป็นส.ว.เสียเอง

ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองมาทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว.

แต่จากรายชื่อกรรมการสรรหาฯ จะเห็นว่ามาจากการแต่งตั้งของคสช.ล้วนๆ แสดงถึงความไม่เป็นกลาง เพราะหัวหน้าคสช.เป็นแคนดิเดตนายกฯ และส.ว.ต้องมาทำหน้าที่เลือกนากยกฯ

กระบวนการได้มาซึ่งส.ว.จึงเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไม่เพียงภายในประเทศ สื่อระดับโลกอย่างวอชิงตันโพสต์ ยังเขียนวิพากษ์วิจารณ์การกลับมาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างถึงพริกถึงขิง ผ่านบทบรรณาธิการไปยังรัฐบาลสหรัฐ ว่า ยังไม่สมควรฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยเต็มรูปแบบ

เพราะการรับรองให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จากการโหวตของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าประชาธิปไตยของปลอม หลังจากจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม โดยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารบางส่วนถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้ง หลายคนถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหา

อีกทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กองทัพ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. กลับมีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับส.ส. 500 คน

แม้การเลือกตั้งในเดือนมี.ค. พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เสียงข้างมาก

แต่กกต.ก็ใช้สูตรคำนวณส่งผลให้พรรคขนาดเล็ก 10 พรรคได้ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง เพิ่มเสียงให้ฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯ ได้สำเร็จ ด้วยกระบวนการดังกล่าว จึงเห็นว่า

ไทยยังไม่กลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยแท้จริง

กระนั้นผลจากประชาธิปไตยแบบปลอมๆ ตามที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ สิ่งที่ประเทศไทยได้คือรัฐบาล 19 พรรคปริ่มน้ำ มีเสียงในสภาผู้แทนฯ เกินฝ่ายค้านมาเพียง 8 เสียง

ในสถานการณ์เดียวกันยังต้องจับตา กองทัพจะเข้ามามีบทบาทประคับประคองรัฐบาล“ประยุทธ์ 2” นี้อย่างไร

กรณีพรรคภูมิใจไทยตั้งกรรมการสอบสวน นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กรณีงดออกเสียงในการโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ทั้งที่ตอนแรกนายอนุทิน หัวหน้าพรรคบอกเองว่าจะไม่ตั้งเพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ก็น่าจะเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากฝ่ายผู้มีอำนาจที่ต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู ไม่ให้ลิงตัวอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

เพราะในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ ขณะที่ฝ่ายค้านอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ การมีส.ส.แตกแถวแม้แค่เสียงเดียวอาจส่งผลเสียหายต่อรัฐบาลใหญ่หลวงเกินคาด

เหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของรัฐบาลประยุทธ์ 2

จึงไม่แปลกที่แม้แต่ “พานไหว้ครู” ล้อการเมืองของเด็กนักเรียนมัธยม

ก็ยังถูกเหมารวมให้เป็นภัยคุกคามต่อผู้มีอำนาจแบบใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน