คสช.สิ้นสภาพโอนอำนาจกอ.รมน.’

คสช.สิ้นสภาพโอนอำนาจกอ.รมน.’ : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตั้งแต่วันที่ 16 .. เป็นต้นไป พร้อมโอนหน้าที่ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดูภาพรวมด้านความมั่นคงในทุกมิติและเป็นหน่วยงานในการบูรณาการขับเคลื่อนงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตามบทบาทอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

มีความเห็นจากนักวิชาการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และนักการเมือง ดังนี้

พงศกร รอดชมภู

รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

คสช.สิ้นสภาพ-โอนอำนาจ‘กอ.รมน.’

เมื่อครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณวันที่ 16 .. ถือว่ามีครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คสช.ก็หมดหน้าที่ลง อำนาจตามมาตรา 44 ก็ไม่สามารถใช้ได้อีก

ทว่าคำสั่งตามมาตรา 44 จำนวนหนึ่งที่ประกาศใช้ระหว่างปี 2557-62 จะยังคงอยู่ต่อไป ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหลายภาคส่วนยังคงมีความกังวล โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการถ่ายอำนาจของคสช.บางส่วนมาไว้ที่กอ.รมน. จากคำสั่งคสช.ที่ 51/2560

ทำให้กอ.รมน.มีหน้าที่ประเมินภัยคุกคาม เรียกประชุมร่วมกับข้าราชการพลเรือนที่จะมีทั้ง ผู้ว่าฯ อัยการและตำรวจ เข้าร่วมด้วย โดยแม่ทัพภาคจะนั่งหัวโต๊ะ ขัดต่อการตรวจสอบถ่วงดุลตามกระบวนการยุติธรรม เพราะให้ทุกหน่วยงานมารวมอยู่ที่จุดเดียว มีอำนาจเรียกเอกสารหรือบุคคลมาให้ข้อมูล หรือไปหาประชาชน ที่บ้านได้ ทั้งที่ตามกระบวนการปกติไม่อาจทำได้ เปรียบเสมือน เกสตาโปในยุคนาซี

ทว่าการให้ความเห็นของอัยการสูงสุดที่ตีความว่า เมื่อคสช.พ้นไป ประกาศและคำสั่งคสช.ต้องหมดสภาพตามไปด้วย โดยไม่ต้องยกเลิก เพราะถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรมกระบวนการตามกฎหมายปกติ

โดยเฉพาะคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 เกี่ยวกับการให้อำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุมตรวจค้นควบคุมตัวได้ 7 วัน ซึ่งยังไม่ถูกยกเลิกและกำลังเป็นข้อถกเถียงกันในสังคม ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อคสช.ไม่อยู่ การใช้อำนาจเดิมของคสช.จะไม่ยึดโยงกับอะไร เหมือนคู่ความตายในชั้นศาล และไร้ทายาทมารับไม้ต่อ คดีก็ต้องจบไป

ประเด็นของอัยการสูงสุดจึงต้องติดตามว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากอีกฝ่ายจะโต้แย้งว่า มีบทเฉพาะกาลของมาตรา 279 รองรับไว้อยู่

แต่ข้อดีอย่างน้อยตอนนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า เมื่อคสช.หมดไป เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต้องพึงระมัดระวัง หากเกิดปัญหาขึ้น อาจจะกลายเป็นความผิดและต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง เนื่องจากหัวอย่างคสช.หายไปแล้ว

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ จะเดินหน้าผลักตามที่มีการเสนอญัตติตั้งกมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ควบคู่ไปกับการรณรงค์ของภาคประชาชนสังคมที่เข้าชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อ เสนอร่างพ...ยกเลิกคำสั่งและประกาศคสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งผลกระทบและมาตรการเยียวยา ในชั้นคณะกรรมาธิการราว 2 เดือน จากนั้นราว 4 เดือน น่าจะ ผลักดันจนออกมาเป็นพ...ยกเลิกได้

รวม 6 เดือนก็น่าจะลบล้างมรดกคสช.ในส่วนนี้ได้

อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คสช.สิ้นสภาพ-โอนอำนาจ‘กอ.รมน.’

คสช.ได้ยกเลิกคำสั่งของคสช.ไปหลายฉบับแล้ว แต่บางฉบับที่ยังไม่ยกเลิกก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นกฎหมายทั่วไปที่ใช้กันต่อไป หากกฎหมายเหล่านั้นถูกนำไปใช้อาจมีข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอปรับปรุงกฎหมายได้ แต่คงไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนักที่จะทำได้เร็วหรือทุกฉบับ

ในส่วนของกสม.ได้ตรวจสอบกฎหมายและพบว่าบางส่วนหรือบางครั้งมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ในการที่จะเป็น การไปละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าเจตนารมณ์ในการเขียนคำสั่งหรือกฎหมายก็เป็นได้

การตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจหรือคำสั่งต่างๆ จะถูกมอบมายังกอ.รมน. โดยถ้าคำสั่งของ คสช.ที่ยังไม่ถูกยกเลิกก็ยังถือว่าคำสั่งนั้นยังคงอยู่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังจะสามารถใช้ได้ แต่ต้องมีการปรับจากการที่เคยเป็นคำสั่งคสช. มาเป็นตามการใช้งานของกฎหมายกับองค์กรนั้นๆ

เข้าใจว่าเรื่องนี้ถือเป็นความรู้ใหม่มากสำหรับพวกเรา คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อกอ.รมน.นำไปใช้แล้วจะนำไปใช้อย่างไร แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดีเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นร่มใหญ่สุดที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ ในส่วนนี้คงต้องนำมาให้เกิดสมดุลในเรื่องความมั่นคงของประเทศและมนุษยชน

ประเทศไทยได้ให้คำมั่นกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาหนึ่งที่ประเทศไทยต้องนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร ทั้งเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย จะต้องตีความให้ได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นทำได้ แต่ทำได้เท่าที่จำเป็น และได้สัดส่วน ไม่ใช่อะไรก็สามารถจำกัดสิทธิได้เลย

เมื่อคสช.สิ้นสภาพแล้วเข้าใจว่าจะไม่มีมาตรา 44 และมีกฎหมายบางฉบับที่ ยังคงอยู่ เพราะเขาให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องคงไว้เพื่อที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย แต่อย่างที่ทราบว่าความสงบเรียบร้อยนั้นอยู่ที่ดุลพินิจในการตีความด้วย ฉะนั้น ในการใช้ดุลพินิจต้องให้ได้สัดส่วน และต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องกระทำตามเพียงเท่าที่มีความจำเป็น ไม่สามารถที่จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในวงกว้างได้

เรื่องนี้คงต้องติดตามว่าเมื่อคำสั่งหรือกฎหมายบางฉบับที่ยังคงอยู่แล้วถูกนำมาปรับใช้ในองค์ใดจะมีการคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยมากน้อยเพียงใด

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คสช.สิ้นสภาพ-โอนอำนาจ‘กอ.รมน.’

คสช.สิ้นสภาพวันที่ 16 .. แต่ผลทางกฎหมายยังมีปัญหาอยู่ เพราะคำสั่งคสช.ฉบับล่าสุด คิดว่ามีการยกเลิกโดยคำสั่งคสช.เอง เพียงไม่กี่สิบฉบับ แต่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประกาศหรือคำสั่งคสช. มีเป็นจำนวนหลายร้อยฉบับ

ดังนั้นรัฐบาลควรชี้แจงว่าฉบับไหนยกเลิกและสิ้นสภาพ ฉบับไหนมีกฎหมายรองรับ และฉบับไหนยังมีผลบังคับใช้อยู่

การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่ายกเลิกคำสั่งไป 60 กว่าฉบับนั้นยังไม่เพียงพอ นายวิษณุควรออกมาจำแนกให้เห็นว่าฉบับไหนพ้นสภาพไปแล้ว ฉบับไหนมีกฎหมายปกติมารองรับแทน และฉบับไหนยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดคำถาม และมีการตีความในการบังคับใช้

หวังว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนการทำงานของฝ่ายค้านที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช.ว่าใน 5 ปีเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง เช่น จับกุมกี่ราย ฟ้องศาลกี่ราย เมื่อได้เห็นภาพรวมแล้วเราก็จะได้ข้อมูลทั้งสองส่วน ทั้งกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว กฎหมายที่มีกฎหมายอื่นรองรับ รวมทั้งกฎหมายที่ยังบังคับใช้อยู่ เราต้องทราบว่าคำสั่งคสช.ที่เหลือจะถอนพิษอย่างไร

นอกจากนี้ ต้องแจกแจงรายละเอียดว่า ในรอบ 5 ปี ซึ่งมีการออกประกาศและคำสั่งคสช.หลายร้อยฉบับในแต่ละปี เช่น ปี 2557 มีกี่ฉบับ สิ้นสภาพกี่ฉบับ มีกฎหมายรองรับกี่ฉบับ และยังมีผลบังคับใช้กี่ฉบับ อะไรบ้าง โดยต้องแยกออกมาอย่างนี้ทุกปี

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจหรือคำสั่งต่างๆ จะถูกส่งมอบให้กอ.รมน.นั้น ถ้าข้อมูลยังไม่แจกแจงให้กระจ่าง ก็จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่อไป เช่น การให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวได้ 7 วัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่คือ กอ.รมน. แต่คำสั่งยังคลุมเครือ

หรือคำสั่งที่คุกคามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นักกฎหมายบางสำนักก็บอกว่าสิ้นสภาพ ไปตามคสช. แต่บางสำนักบอกว่าถ้ายังไม่มีคำสั่งยกเลิกก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือกอ.รมน. ก็เกิดสภาพว่าการบังคับใช้ไม่เหมือนกัน เป็นดับเบิ้ล สแตนดาร์ด จะทำให้สิ่งที่เราบอกว่าเป็นประชาธิปัตย์ ใช้หลักนิติธรรมปกครองประเทศจะถูกสังคมมองว่าโกหก

เพราะยังมีกฎหมายที่ตีความเป็นบวกกับตัวเองตลอดเวลา และมีกฎหมายที่ตีความทางลบกับฝ่ายตรงข้าม

วันวิชิต บุญโปร่ง

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

คสช.สิ้นสภาพ-โอนอำนาจ‘กอ.รมน.’

การสิ้นสภาพของคสช. ในวันที่ 16 .. หากมองเรื่องกฎหมายต่างๆที่คสช.เคยใช้ตามมาตรา 44 ไม่มีผลต่อการบริหารงานของรัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพราะกฎหมาย และคำสั่งตามมาตรา 44 ที่คสช.เคยใช้ได้แปลงสภาพเป็นกฎหมายปกติไปหมดแล้ว ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

หมายความว่าคสช.ได้เตรียมการในส่วนนี้ไว้พอสมควร เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

หากไม่มองกันเฉพาะเรื่องกฎหมาย แต่มองเรื่องความต่อเนื่องของการบริหารงาน จะเห็นว่ามีหลายส่วนโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มาจากคสช. หากมองดูกันให้ดีจะเห็นมิติเรื่องความมั่นคงที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย มา 5 ปี และยังได้เป็นต่อเนื่อง ตรงนี้คือมิติด้านความมั่นคง และการเมือง ที่แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อรัฐบาลของพล..ประยุทธ์ การสิ้นสภาพของคสช.จึงไม่มีผลอะไร

ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลค่อนข้างจะอยู่ต่อไปได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องในสภาที่จะต้องดูให้ดีมากกว่า

สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจหรือคำสั่งต่างๆ อาจถูกส่งมอบให้กอ.รมน. รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนอำนาจเรื่องนี้ไว้ครอบจักรวาล โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่มาก เพราะนอกจากการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ยังเพิ่มมิติด้านการพัฒนาประเทศเข้าไปด้วย

อย่างกรณีเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสังเกตการณ์รักษาฐานมวลชน เพื่อไม่ให้เกิดการระดมมวลชนในลักษณะต่อต้านรัฐบาล การที่ให้กอ.รมน.ดูแล ในแง่บวกอาจเป็นลักษณะการรักษาความมั่นคง แต่หากเข้าไปปิดกั้นคนคิดต่างไม่ให้สามารถแสดงความเห็นแบบนั้นก็ถือเป็นเชิงลบ

หากเจ้าหน้าที่เข้าไปในลักษณะพูดคุยสังเกตการณ์จะเป็นการเปิดโอกาสมากกว่า รวมถึงกอ.รมน.อาจทำหน้าที่ตัวกลางรับฟังปัญหาแล้วส่งต่อรัฐบาลก็จะเป็นเรื่องดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน