“ยุทธพงศ์” จ่อฟ้อง “หมอระวี” ปมแก้ไขรายงานประชุมกมธ. ทางด่วน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย

ความคืบหน้ากรณีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อศึกษาข้อเสนอการขยายสัมปทานทางด่วนให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แลกกับการที่ BEM ต้องยุติข้อพิพาทคดีฟ้องร้อง “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” หรือ กทพ. นับแสนล้านบาทฐานทำผิดสัญญาสัมปทาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่รัฐสภาใหม่ เกียกกาย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า

ตนจะยื่นเรื่องฟ้องร้อง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ฐานะรองประธาน กมธ. พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้ากับพวก กรณีแก้ไขข้อบังคับการประชุมครั้งที่ 1 ด้วยการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่มติที่ประชุมขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กมธ. โดยที่ประชุมไม่ได้อนุมัติ

“กรณีดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นเล็กน้อย เพราะมติที่ประชุมไม่มีใครหน้าไหนเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ กมธ.พิจารณาขยายสัญญาฯ ระบุว่าให้เดินหน้าทำงานโดยไม่เสียเวลากับเรื่องเล็กน้อยนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะไม่มีบุคคลใดแก้ไขมติที่ประชุม กมธ.ได้”

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมกรณีขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เชิญอีกสองฝ่ายมาชี้แจง ประกอบด้วย ฝ่ายแรก คณะตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษ (สร.กทพ.) นำโดย นายประสงค์ สีสุกใส รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. ส่วนอีกฝ่าย คือ ตัวแทนจากคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.

โดยในส่วนของ สร.กทพ.ให้ข้อมูลว่า ไม่เห็นด้วยในการต่ออายุสัญญาสัมปทานไปอีก 30 ปี เพราะจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์หลายปี ซึ่งมีสัดส่วน 60:40 จึงควรให้การทางพิเศษฯ ดำเนินการเอง

หลังจากนั้น ช่วงที่นายยุทธพงศ์พูดคุยซักถามตัวแทนคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. ก็ได้ถามว่า ที่ผ่านมา กทพ.จ่ายโบนัสพนักงานเท่าไหร่ ตัวแทนคณะกรรมการสหภาพฯ​ตอบว่า ประมาณ 6 เดือน เป็นเหตุให้กรรมาธิการฯ อีกคนหนึ่งถามว่า คณะกรรมการสหภาพฯ เห็นแก่โบนัสใช่หรือไม่ ทางตัวแทนคณะกรรมการสหภาพฯ จึงระบุว่า พวกตนไม่ได้เห็นแก่โบนัส แต่มองว่าการขยายสัมปทานแลกกับข้อตกลงยุติข้อพิพาททั้งหมด จะเป็นการยุติปัญหา ทำให้รัฐไม่ต้องนำภาษีประชาชนไปจ่ายให้บริษัทเอกชน นอกจากนั้นผู้ใช้ทางด่วนก็ยังจะได้ใช้ทางด่วนแบบ “ดับเบิลเด๊ก” ที่เอกชนจะต้องสร้างให้เพิ่มเติมตามสัญญา เพื่อลดและแก้ปัญหาจราจรติดขัด

ทั้งนี้ นายยุทธพงศ์ เผยว่า การชี้แจงจากฝ่าย สร.กทพ.ในวันนี้ ปรากฏมีกรณีปัญหาว่า หนึ่งในตัวแทนฝ่าย สร.กทพ. เป็นบุคคลที่ไม่ได้มีหน้าที่ชี้แจง และไม่ได้มีการรับมอบอำนาจจาก สร.กทพ. ดังนั้นการชี้แจงครั้งนี้จึงไม่ถูกต้อง ทำให้ที่ประชุมขอเอกสารมอบอำนาจจากตัวแทนดังกล่าว

สำหรับการประชุมสัปดาห์หน้า กรรมาธิการฯ​ จะเชิญกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจงในวันอังคารที่ 6 และ 7 สิงหาคม ตามลำดับ

รายงานข่าวจากกรรมาธิการฯ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ชี้แจง เพราะไม่ได้รับมอบอำนาจจากฝ่ายสหภาพฯ​ กทพ. แต่กลับเข้าไปร่วมให้ข้อมูลด้วย ทำให้นายยุทธพงศ์มองว่าไม่เหมาะสมนั้น มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร คือ ผอ.กองบริหารความเสี่ยง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน