นายกฯ ยังไม่ตัด “ไฟใต้-การเมือง” มูลเหตุระเบิด กทม. ยันไม่เกี่ยวปมหาเสียง รักความสงบจบที่”ลุงตู่” ปัดรัฐบาลสร้างสถานการณ์ ซัดคนทำชั่วร้าย-ใจดำ ทำกับประเทศ ย้ำ ตร.คลี่คลายคดีให้ชัดเจน วอนอย่ากดดัน จนท.

เมื่อเวลา 08.20 น. วันที่ 5 ส.ค. ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีลอบวางระเบิดป่วนกรุง ว่า ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งขณะนี้กำลังสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหา 2 คนที่จับกุมได้ ทราบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้อง 10 กว่าคน

ขณะนี้ไม่ได้ตัดสาเหตุจูงใจใดทิ้ง ก็ต้องตรวจสอบต่อไป ขอให้ใจเย็น เพราะมีผู้เกี่ยวข้องอีก 10 กว่าคนต้องตามจับให้ได้ว่าสาเหตุที่เกี่ยวข้องมาจากอะไร ขอให้ใจเย็นๆ หากไปกดดันเจ้าหน้าที่ก็จะทำงานลำบาก เรื่องเช่นนี้พร้อมที่จะเกิดขึ้นในหลายเวทีของโลกนี้ คนเราแตกต่างทางความคิดมากมาย ตนก็ยังไม่ได้มุ่งหมายว่าเป็นกลุ่มไหน

ส่วนพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2549 นั้น เป็นแค่เพียงการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ยึดโยงกันและมีส่วนคล้ายคลึงกัน ส่วนโอกาสที่กลุ่มการเมืองจะอยู่เบื้องหลังนั้น ยังไม่ทราบ อย่าเพิ่งไปสรุปอะไร

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ายังไม่ตัดเหตุการณ์ใดออก เมื่อถามถึงกรณีที่มารดาผู้ต้องหาต้องการทราบที่อยู่ของบุตรชาย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่แม่ก็ต้องเป็นห่วงลูก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามวัตถุพยาน หรือกล้อง CCTV รวมถึงหลักฐานที่ตรวจสอบพบ เช่น ถุงเสื้อผ้าก็มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องฟังทั้งสองทาง ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องหา ส่วนผู้บาดเจ็บได้ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแล

“ผมถือว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ไม่ว่าที่ใดก็ตามก็มีปัญหากันหมด โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ คนที่ดำเนินการหรือคนที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นใคร แต่ถือว่าใจร้าย ใจดำ ที่ทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวายในขณะที่กำลังเดินได้อยู่ ในการเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการบูรณาการกล้อง CCTV นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาใช้งานได้จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา ต่อไปจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการครั้งแรก งานด้านการข่าว การดำเนินงาน การพิสูจน์หลักฐาน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราไปบังคับเช่นนั้นไม่ได้ ต้องมองว่าเรามีตำรวจประมาณ 2 แสนคน เมื่อเทียบกับประชาชน 70 ล้าน ก็ต้องช่วยกัน การเฝ้าระวัง ซึ่งขณะนี้เราก็วางเจ้าหน้าที่ไว้ทุกจุดทุกพื้นที่ และความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของใคร แต่เป็นของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว หรือพื้นที่ทางธุรกิจ หรือจัดประชุมต่างๆ ถือเป็นหน้าตาของประเทศ ไม่ว่าใครจะทำก็ตาม ที่ดำเนินการถือว่าเป็นคนใช้ไม่ได้

เมื่อถามว่าการลอบวางระเบิดครั้งนี้เกิดจากแรงจูงใจที่นายกฯ ดูแลทั้งทหารและตำรวจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ตนก็คุยกับพี่น้องทุกคน รวมถึงพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม

รวมถึงในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนก็ให้แนวทางไปกับตำรวจว่า ทุกอย่างต้องดูแลให้เกิดความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ตนได้จัดคณะทำงานให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นในการสืบสวนสอบสวนคดี และเน้นย้ำว่าการให้ข้อมูลข่าวสารใดก็ตามที่จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด หรือทำให้เกิดความไม่พอใจส่วนตัว ก็ขอให้เบาๆ กันไว้บ้าง

เมื่อถามว่าเหตุจูงใจน่าจะมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หาเสียงเอาไว้ว่าหากเลือกความสงบจบที่ ‘ลุงตู่’ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันและตนก็ไม่ได้เป็นคนพูด ใครจะเลือกใครเป็นเรื่องของการเมืองก็เลือกไป

ในช่วงนั้นตนก็พยายามไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เนื่องจากยังเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ไปก้าวล่าง ตนเห็นหลายพรรคก็หาเสียงกันทุกเรื่อง อย่าเอาประเด็นโยงกันไปมา แค่นี้ปัญหาก็เยอะพอสมควรอยู่แล้ว ไม่อยากให้บ้านเมืองสงบหรืออย่างไร คนที่ไม่ดี และดำเนินการที่จะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงกับประเทศชาติก็ต้องถูกดำเนินการ

ในฐานะที่ตนเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ได้บูรณาการการทำงาน และสั่งการเพิ่มเติมให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) รวมถึงเรื่องการข่าวในการประสานความร่วมมือระหว่างกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องดูแลให้มากขึ้นกว่าเดิมในการผ่านแดน ซึ่งคนไม่ดีก็มีจำนวนมาก

เมื่อถามถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลมีพิรุธกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า รัฐบาลมีพิรุธอย่างไร อยากให้มองในประเด็นใหญ่ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังประชุมระดับนานาชาติ มีต่างประเทศเข้าร่วม ทั้งในกรอบอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ถามว่าใครจะทำแบบนั้น

เว้นแต่ว่าเป็นการทำเพื่อไม่ให้เกิดความน่าเชื่อถือในเวทีต่างประเทศ อยากให้มองในมุมนี้บ้าง อย่ามองในประเด็นที่ว่ารัฐบาลจะสร้างสถานการณ์เอง จะทำทำไม ตนอยู่ดีๆ เฉยๆ ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ดีกว่าหรืออย่างไร อยากให้คิดให้มีตรรกะ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน