ฝ่ายค้านเข้าชื่อส่ง ‘ชวน’ ชงศาล รธน. ชี้ พ.ร.ก. ขัด รธน. จี้ รบ.รับผิดชอบลาออก ห้ามยุบสภาฯ เล็งแตกปมย่อย อภิปรายถวายสัตย์ – ไม่แจงงบตอนแถลงนโยบาย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แจ้งต่อที่ประชุมวิปฝ่ายค้านว่า สำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ได้รับแจ้งจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ว่า

จะบรรจุระเบียบวาระตามขั้นตอน แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน ส่วนฝ่ายค้านจะอภิปรายใน 2 ประเด็น คือ การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 และการไม่ชี้แจงที่มารายได้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 162

นายสุทิน กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับคณะทำงานของประธานสภาฯ ถึงกรอบการอภิปราย ว่าจะทำได้ประการใด ซึ่งได้รับการประสานงานเบื้องต้นว่า เนื่องจากการอภิปรายตามมาตรา 152 เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ อาจต้องใช้หลักเกณฑ์ระหว่างการตั้งกระทู้ถามสด กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในส่วนของฝ่ายค้านการอภิปรายไม่น่าจะถูกจำกัดกรอบมากนัก ขออภิปรายให้กว้างมากที่สุด

โดยขยายจากสองประเด็นหลัก ซึ่งกรอบเวลาจะใช้ 1 หรือ 2 วันนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาเป็นหลัก นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านจะรวบรวมรายชื่อส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งหมด เพื่อยื่นเรื่องผ่านนายชวน ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การออกพระราชกำหนด หรือพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 คาดว่าจะรวบรวมรายชื่อได้ภายในวันนี้ เวลา 14.00 น. และยื่นให้นายชวนเวลา 15.00 น.ต่อไป

“เราต้องทำเป็นบรรทัดฐาน จัดระเบียบนิติรัฐนิติธรรมกันใหม่ เมื่อยื่นให้กับประธานสภาฯ ไปแล้ว สภาฯ ก็จะต้องชะลอการพิจารณาพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่การพิจารณาต่อไป

แต่หากขัดรัฐธรรมนูญก็ถือว่าพ.ร.ก.ตกไป ซึ่งตามวัฒนธรรมการเมือง หากถูกสภาฯ ตีตก รัฐบาลก็จะรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่หากถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่เคยมี แต่ไม่ว่าพ.ร.ก.จะตกไปในชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือสภาฯ ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล รัฐบาลต้องลาออก ไม่ใช่ยุบสภา”

นายสุทิน กล่าวและว่า เบื้องต้นทั้งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่เห็นตรงกันว่าการตราพ.ร.ก.ดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.172 ที่มีเงื่อนไข 4 ประการคือ

  • 1.เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ
  • 2.ความปลอดภัยสาธารณะ
  • 3.ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • 4.การปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ

ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว เกิดจากความไม่พร้อมของภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน