‘ทวี’ ชี้รัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่มีบัญญัติข้อห้ามรับวินิจฉัย ดันแก้ระบบ ‘คณะตุลาการ’

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กภายหลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ

โดยระบุว่า อดีตที่มีคุณค่าในการ “ตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ธำรงไว้เป็นกฎหมายสูงสุด”!!! ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติกรณีคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องให้พิจารณากรณีคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 161 ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา และการถวายสัตย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใดเพราะถือว่าเป็นการกระทำทางรัฐบาล (Act of Government) หรือการกระทำทางการเมือง (Political Act)

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้วยตามบทบัญญัติมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” อำนาจการวินิจฉัยว่ากรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการกระทำใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น จึงมีความจำเป็นและต้องมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ

ซึ่งในอดีตของประเทศไทย ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บัญญัติให้มี “ศาลรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นนั้น รัฐธรรมนูญในอดีตได้บัญญัติองค์กรพิเศษที่เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญหลายฉบับได้กำหนดเรื่อยมา และเป็นที่ยอมรับเชื่อมั่นมาอย่างดีมาโดยตลอด อาทิ

– รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เกิดได้ขึ้นครั้งแรก มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้ง เป็นประธานคณะตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีก 14 คน

– รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วยประธาน วุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

– รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน โดยกำหนดให้ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.) เป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 3 คน

– รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

– รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือสาขารัฐศาสตร์ อีกหกคน ซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

“คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวข้างต้น ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ ในการวินิจฉัย กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีที่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นต้น

“คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ในอดีตได้สร้างผลงานที่มีคุณค่าในการในการธำรงไว้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบาทที่ยึดหลักการอำนาจประชาธิปไตยที่ 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่มีความเป็นอิสระ เสมอภาคและสมดุลย์กัน

ในบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นว่าอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย) เป็นอำนาจของเด็ดขาดของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นผู้ร่างกฎหมายย่อมมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ตราออกมา ส่วนอำนาจตุลาการ หรือศาลไม่ใช่ผู้ร่างและออกกฎหมายเหมือนเช่นฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่ควรมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย) หน้าที่หลักของฝ่ายตุลาการคือการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีโดยทั่วไป อันเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อปรับว่าเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายใดอันเป็นการบังคับใช้กฎหมายเป็นคดีๆ ไป

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในอดีต ไม่เคยเกิดปัญหาที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้บัญญัติเหตุข้อห้ามมิให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด

ดังนั้น ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายกำลังรณรงค์และผลักดันกันอยู่ จึงควรนำประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา นำสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งระบบ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่เคยใช้ได้ผลดีในอดีต น่าจะเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าในการพิทักษ์รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของกฎหมายรัฐธรรมมนูญ เพื่อธำรงไว้ถึงหลักนิติธรรมของประเทศได้อย่างดี


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน