ธีรยุทธ บุญมี : วิกฤตใหม่ประเทศไทย

ธีรยุทธ บุญมี : วิกฤตใหม่ประเทศไทย – หมายเหตุ : นายธีรยุทธ บุญมี บรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤตใหม่ประเทศไทย” ในวาระรำลึกครบ 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน

ปีนี้ขอเสนอสิ่งใหม่ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบคิด หรือกระบวนทัศน์ในสังคมไทย เป็นสิ่งที่เพิ่งก่อตัวไม่นานซึ่งน่าเป็นห่วง และมีส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในระบบคิดใหม่นี้ค่อนข้างมาก จึงถือเป็นหน้าที่ของนักวิชาการอิสระที่จะติงเตือนสังคมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

ผมไม่ถือว่ามีใครกลุ่มไหนในสังคมเป็นศัตรู แต่มองทุกฝ่ายด้วยสายตาที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ เป้าหมายการปฏิรูปเกิดขึ้นมานาน แต่ดูเหมือนหดตัวลีบลง อาจพูดได้ว่าผู้ที่ทำให้กระแสปฏิรูปประเทศไทยตายคือทหาร ตั้งแต่การปฏิวัติของคสช.

สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง

การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2500 แบ่งเป็น 3 ยุค

1.ยุคพัฒนา (2500-2535) สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดี ผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน

ส่งผลสู่ยุค 2.ยุคปฏิรูป (2535-2557) สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกัน คือการปฏิรูปการเมืองแต่กลับล้มเหลว

เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ครั้งใหญ่ของทั้งกลุ่ม พันธมิตรฯ และกปปส. ก็มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆได้ ทำให้เป้าหมายการปฏิรูปฝ่อลงไปเรื่อยๆ

และ 3.ยุคปัจจุบัน (2557 – 2562) คือ ยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ ที่จริงมีเป้าหมายหนึ่งคือ “ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ใช่วาทกรรมที่เป็นทางออก

แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลก เป็นเพียงเครื่องมือของการหาเสียง ทั่วโลก ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศไทยและพิสูจน์แล้วว่า ไม่ยั่งยืน

ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงอยู่ที่คนรุ่นใหม่กับชนชั้นกลางที่ไม่พอใจระบบเก่า

สองพรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะสามารถนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นที่เป็นจุดขายของขบวนการประชานิยมเป็นเรื่องๆ และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ

ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์ หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่กินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้

กระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทย

ระบบคิด‘ความเมือง’ เข้ามาแทนที่‘การเมือง’

ในวงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้น คือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า “การเมือง” (the politic) คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเมือง” (the political)

เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำสังคมแทนที่คำว่า การเมือง ซึ่งแตกต่างกัน การเมือง นิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจหรือโกรธชังกันระหว่างบุคคล แต่ในที่สุดเสียงส่วนใหญ่จะเป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหา

แต่ ความเมือง ถือเป็นทัศนะใหม่ เป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ มองว่าพื้นฐานของสังคมเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ด้วยกันแบบหวาดระแวง มองอีกกลุ่มในแง่เป็นพวกเรา กับศัตรู เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม อยู่แบบเอากลุ่มตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ ผู้มีอำนาจ ตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ของกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐ หรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ทั้งประชาชนและนักการเมืองไทยจะมองว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการเมืองประชาธิปไตยปกติ คือการแถลงนโยบาย ทัศนะของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบ หักล้างด้วยหลักฐานโวหาร เหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขผิดเป็นถูก หรือเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้

แต่น่ากังวลว่าปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทัศน์แบบ ความเมือง มองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มาใช้แม้ในภาวะปกติซึ่งไม่ได้มีวิกฤตใดๆ

ทำให้ได้พบเห็นนักการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง” ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็น “ทหารฝ่ายความเมือง” ได้เห็นนักเคลื่อนไหวความเมือง

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อบ้านเมือง เป็นศัตรูที่ต้องถูกทำลายลงไปด้วยการขยายประเด็นเกินเหตุและผล ต่อเติมความ ไปจนถึงการฟ้องร้องหาเรื่องดำเนินคดีความ รวมทั้งการใช้อิทธิพลกดดันกระบวนยุติธรรม บางครั้งก็ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า ปักธงล่วงหน้า ก่อนอีกฝ่ายจะดำเนินการใดๆ ด้วยซ้ำ เป็นการต่อสู้ที่ใช้ทั้งวาทกรรม ข่าวสาร ข้อมูล และคดีความ ถึงที่สุดก็จะกลายเป็นสงคราม

ระบบคิดแบบความเมือง ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่องชนชั้นล่าง ชั้นกลางในชนบท กับ ชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็นภาคเหนือ อีสานใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย

การเลือกตั้งหลังสุดก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจน คือชาติตะวันตกหนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร

การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤตการณ์ผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด

การมองปัญหาใจกลางผิด อาจนำไปสู่ปัญหา ใหม่ที่ร้ายแรง

ทหารเอาคำนิยมของทหารในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ เป็นปัญหาหลักของประเทศ ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วน อาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี มองปัญหาผิดอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง

ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ ควรเป็นปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคง ควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวล แบบแสดงความเข้าใจกันและกัน

ทหารออกมาพูดเรื่องความจงรักภักดีมากจนคนคิดว่าเกิดประเด็นอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ มองแง่ดีก็เป็นค่านิยมอุดมการณ์ของทหาร ประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ใน ค่านิยมนี้อยู่แล้ว ส่วนที่อาจไม่ชื่นชม ติติงสถาบัน เป็นเพียงส่วนน้อยไม่มีพลังที่เป็นนัยยะสำคัญ

จึงไม่จำเป็นที่คนระดับนายกฯ และผบ.เหล่าทัพต้องออกมาพูด เพราะจะทำให้คนตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องไม่ลืมว่าทหารเป็นผู้ถืออาวุธเพียงสถาบันเดียว จะพูดอะไรต้องระมัดระวัง

ขณะที่ปัญญาชนจะพูดถึงสถาบันกับคนยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป ส่วนการพูดถึง ซุบซิบนินทา ผู้นำประเทศ ดารา เป็นรื่องสนองความอยากรู้ของมนุษย์ที่มีมาทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย จะให้ปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับ สงคราม 4.0 สะท้อนว่า ทหารเชื่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของคสช. ยังอยู่ใน“ภาวะสงครามกลางมือง” แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมพัฒนาความขัดแย้งมาป็นสงคราม 4.0 ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิม เพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้

แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่น เรื่องวัสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี

ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภพเกินจริงในภาวะปกติของประเทศหรือโลก มักทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริงๆ ขึ้นในที่สุด

ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งแบบ “พวกเรา-ศัตรู” เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือว่านักศึกษาเป็นภัยต่อคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายลงในช่วง 6 ต.ค. 2519

แต่การเกิด “ระบบความเมือง” ในขณะนี้ มีการคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยงานราชการกองทัพ กระบวนการศาลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ที่ควรกังวล และต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลายผ่อนความขึงตึงจนเกินไป

หนทางแก้ไข

1.สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม หรือความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับฟังเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรู ที่เกิดขึ้น

2.ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ความเมือง” หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัว ว่ารัฐบาลมีความเชื่อว่า “กำลังมีสงครามภายใน”

หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาล และระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ ต้อง devolute คือ ถอยกระบวนการตุลาการภิวัฒน์กลับบ้าง (devolute = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐ และอีกเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทัศน์ “ความเมือง” ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้

งานที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ควรทำ

รัฐบาลประยุทธ์ ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด

รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่

ดังนั้น ภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็คือจะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ดาคว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจัง 2-3 เรื่องก็พอ

อย่างแรก คือ โฟกัสเรื่องปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่เคยเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” (กระจ้อน=แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจนคนชั้นกลางก็ลำบากจริงๆ การแก้ปัญหานี้จริงๆ ทำได้ยาก แต่นายกฯ ก็ต้องทุ่มเททำ

เชื่อว่าถ้าผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไปได้ รัฐบาลจะอยู่ได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต้องปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการปฏิรูปได้ฝ่อไปแล้ว

อย่างที่สอง เพิ่มคุณภาพคนทุกวัยด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีตัวนายกฯ ลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่น มีประกันรายได้การจ้างงานและควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง การทำเช่นนี้จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน