‘ธนาธร’ อัดงบฯ 63 ไม่แก้ปัญหา เปรียบเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ คิดแทน ปชช. ไร้สิทธิกำหนดเอง

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ห้องรัตนา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดงานเสวนา ‘งบประมาณพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?’ โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ตนไป จ.นครปฐม ติดๆ กันมา 3-4 ครั้ง รวมทั้งหลายๆ จังหวัด ที่ตนไปด้วยความหดหู่ เมื่อมีครอบครัวหนึ่ง สามีทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ภรรยาเป็นแม่ค้าในตลาด สามีตอนนี้เริ่มไม่มีโอที และถูกจ้างแทบจะเป็นวันเว้นวัน คือไม่มีงานให้ทำ ขณะที่ภรรยาก็บอกว่า การค้าซบเซาลงทุกวัน เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพเศรษฐกิจ มีหลายคนเดินมาจับมือตนแล้วก็ร้องไห้ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 20 ครอบครัว ในรอบ 2 ครั้งที่ผมลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่า ในภาวะที่คนลำบากขณะนี้ เราไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้

นายธนาธรกล่าวต่อว่า สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และจีน แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตามอัตราการเลิกจ้าง ที่ปรากฏเป็นข่าว แทบจะทุกสัปดาห์ในประเทศไทย ช่วงเดียวกัน ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ พบว่า ปีนี้มีคนถูกเลิกจ้างมากกว่าปี 2552 เสียอีก โดยในปีนี้ตั้งแต่เดือนม.ค. ถึง มิ.ย. มีคนถูกเลิกจ้างไปแล้ว 163,000 คนทั่วประเทศ ขณะที่ในปี 2552 ช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีคนถูกเลิกจ้าง 141,000 คน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้ วิกฤตน้ำท่วมใน 4 จังหวัดยังเป็นการซ้ำเติม เอาแค่ จ.อุบลราชธานี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และจ.อำนาจเจริญ พบว่า มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม 2.2 ล้านไร่ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท แต่ถ้าเราไปดูชีวิตคนจริงๆ อาจจะเสียหายมากกว่านั้น เพราะหนี้สินที่ยืมมา ดอกเบี้ยก็ทบต้นขึ้น ขณะที่ปีนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ด้วย ความหนักหนาสาหัส ยิ่งกดทับศักยภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

“โจทย์ของประเทศไทยที่งบ 2563 ต้องแก้ คือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 2.ระบบราชการที่รวมศูนย์ในกรุงเทพฯ 3.ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา 4.ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5.ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของภาครัฐ เมื่อเราถามว่างบปี 2563 แก้ปัญหาตัวนี้หรือไม่ คำตอบที่ผมกล้าพูดได้เต็มปากคือ ไม่ตอบโจทย์”

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ตนขอให้หลักคิดใหม่ ฐานใหม่ในการใช้งบประมาณพัฒนาประเทศ ตนแนะนำให้ใช้เพียงแค่ 4 หลัก คือ 1.ลดงบดำเนินการลงไปเป็นงบลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะประเทศไทยมีการลงทุนน้อยลง ทำให้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศไทย ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างพอเพียง 2.เปลี่ยนจากการตัดสินใจการใช้งบจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น เป็นผู้ตัดสินใจ 3.โครงการเมกะโปรเจ็กต์ยังจำเป็นอยู่ แต่ที่ตนคิดว่าสำคัญกว่าคือ การลงทุนเพื่อคนทุกคน 4.สร้างสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวสรุปว่า สุดท้ายสิ่งที่อยู่ฉากหลังของงบประมาณ 2563 คือ เราไม่เห็นความฝันของผู้กำหนดงบประมาณ ที่ไม่มีความเชื่อมั่นในประชาชน คือหน่วยงานรัฐเป็นผู้ออกงบประมาณให้ทั้งหมด ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบจะไม่มีสิทธิร่วมกำหนด แสดงออกว่า ไม่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ คิดว่าตัวเองเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ ที่จะบอกว่าเรารู้ดีกว่าว่าจะเอางบไปจัดการอะไร รู้ดีกว่าประชาชน ซึ่งสะท้อนมาถึงเรื่องพรรคการเมืองอ่อนแอ และระบบราชการเป็นใหญ่ เพราะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับพรรคการเมืองในแผนงบประมาณฉบับนี้

ดังนั้น พรรคราชการ คือ คนที่ออกระเบียบงบประมาณ ตนอยากให้เห็นว่า การทำงบประมาณมีความเชื่อมโยงกับการเมือง คือไม่มีเรื่องที่พูดถึงอำนาจของประชาชน เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ ระบบราชการจึงเป็นใหญ่ นี่คือความจงใจ ทำให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนเข้าไปแตะงบประมาณไม่ได้ ถ้าพรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง และประชาธิปไตยเข้มแข็ง งบประมาณจะสามารถนำไปตอบสนองต่อนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน