บิ๊กช้าง ยันงบกลาโหม ไม่สูงผิดปกติ ชี้เพิ่ม 6,000 ล้าน ต้องดูแลสวัสดิการ ซื้อยุทโธปกรณ์

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 ต.ค. วันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วันที่ 2 พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.33 แสนล้านบาท ว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานไม่สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ในปี 2563 ได้รับงบประมาณร้อยละ 7.29 ของงบประมาณทั้งประเทศ หากพิจารณาตามระดับจีดีพีจะอยู่ที่ 1.3

เมื่อพิจารณาตามอัตราการได้รับงบประมาณเฉลี่ยของกองทัพ ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับงบอยู่ที่ 2.2 ของระดับจีดีพี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของวงเงินงบประมาณ แต่หลังจากที่มีภาวะปัญหาเศรษฐกิจ กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณลดลงตามลำดับ และต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่ได้รับเพียง 1.1 ของจีดีพี และเมื่อเปรียบเทียบกับงบทหาร งบความมั่นคงและกลาโหมของกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่ามีค่าเฉลี่ยสากล อยู่ที่ 2.2 ของจีดีพี แต่ของไทยอยู่ที่ 1.3 ต่อจีดีพี เท่านั้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม ไม่ได้รับงบประมาณที่สูงผิดปกติ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นปีนี้กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และซ่อมแซม รวมถึงจัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ขณะที่งบประมาณเพื่อซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์มีเฉพาะที่ปรับปรุง ส่วนที่ล้าสมัย ขณะที่การซื้อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถหาชิ้นส่วน หรือซ่อมแซมได้ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ และเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 กองกำลังที่มีทั้งหมด

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวด้วยว่า สำหรับอำนาจหน้าที่หลักของกระทรวงกลาโหม คือ ป้องกันประเทศ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกองทัพมีความจำเป็นเตรียมกำลังเพื่อดูแลความเรียบร้อย ประเมินภัยคุกคามเตรียมกำลังให้พร้อมมากกว่าการใช้กำลัง โดยพิจารณาสถานการณ์และขีดความสามารถด้านงบประมาณการเตรียมกำลัง แนวคิดที่ว่าจะมีความพร้อม 1 ใน 3 คือ กองพล ลดระดับกรมที่มีความพร้อม คือ มีขีดความสามารถ มีอำนาจการยิง มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีอำนาจการติดต่อสื่อสารที่เข้าควบคุมสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีต ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และจัดหาบางส่วน

“ยุทโธปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปัจจุบัน อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป รถถังบางชนิด อายุการใช้งาน 40 – 50 ปี รถเกราะที่ใช้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 40 ปี เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5 ที่กองทัพอากาศใช้ มีอายุการใช้งาน 41 ปี เครื่องบินลำเลียง ซี130 มีอายุใช้งาน 40 ปี ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 30 ปี มียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 58 ดังนั้นในการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ชำรุด ไม่สามารถซ่อมได้ มีเพียง 1 ใน 3 ของสิ่งที่มีทั้งหมด ทั้งนี้ กองทัพยังเน้นการปรับปรุง และซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ต่อไป ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิด ไม่ใช้แล้ว แต่การจัดหาก็ทำเท่าที่จำเป็น เพื่อสอดคลองกับการใช้กำลัง” รมช.กลาโหม กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน