“อดีตรองนายกฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จัดหนัก “มาดามเดียร์” หลังโบ้ยกลางสภา รัฐบาลก่อนก่อหนี้! ชี้ มีอคติ หรือ “ความไม่รู้”

จากกรณี น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตอนหนึ่งเปรียบเทียบระหว่างสองรัฐบาลคือรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า

ปีงบประมาณ 2555-2557 มีการกู้เงินทั้งสิ้น 950,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วมีการใช้เงินกู้ปีละ 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ตั้งวงเงินกู้ไว้ทั้งสิ้น 2.1 ล้านล้านบาท แต่เบิกกู้จริงเพียง 2.04 ล้านล้านบาท ดังนั้น เมื่อหารจากปีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้บริหารงบประมาณตั้งแต่ปี 2558-2562 รวม 5 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณปีละ 408,000 ล้านบาท

เมื่อดูค่าเฉลี่ยต่อปีพบว่ามีการกู้เงินน้อยกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ปีละ 38,000 ล้านบาท และหากยังจำได้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มี 1 โครงการที่เป็นที่กล่าวขานไปทั่วประเทศคือ โครงการรับจำข้าว ซึ่งขณะนั้นตัวเลขเงินกู้ไม่ได้ปรากฏในร่างงบประมาณ

เพราะเป็นการกู้จากงบประมาณกึ่งการคลัง ซึ่งปัจจุบันพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ซึ่งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีหนี้จากโครงการจำนำข้าว 8.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ในภาระเงินกู้ที่รัฐบาลต้องจัดสรรในทุกๆ ปี ส่วนหนึ่งมาจากต้องไปชดใช้ในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือ 7.5% จากเงินกู้ทั้งหมดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

“กิตติรัตน์” โต้เดือด!

ต่อมานายกิตติรัตน์ ณ.ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาตอบโต้เรื่องดังกล่าว ระบุว่า ผมเบื่อที่จะอธิบาย (ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เรื่องความคุ้มค่าของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ในช่วงปี 2554-2557) และกลไกการลดภาระคงค้างด้วยสินค้าคงคลัง และการจัดสรรงบประมาณ ที่ทุกๆ รัฐบาลจะดูแลดำเนินการให้แก่กันอย่างต่อเนื่อง

เพียงอยากตั้งข้อสังเกตว่า “อคติ และ/หรือ ความไม่รู้” ทำให้มองไม่เห็นว่า หนี้สาธารณะดั้งเดิมมียอดเงินต้นลดลงเกือบสามแสนล้าน ในช่วงของรัฐบาลคสช. เกิดจากการที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ วางระบบการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 ชัดนะครับว่าหนี้ที่ลดลงไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล คสช.

ส่วนที่เป็นฝีมือของรัฐบาล คสช.แน่ๆ คือ ยอดเงินกู้ใหม่กว่าสองล้านๆ บาท ในห้าปีงบประมาณของ รัฐบาล คสช. (2558-2562 ; ไม่รวมอีกเกือบสี่แสนเจ็ดหมื่นล้านของปีงบประมาณ 2563 ที่กำลังถกกันอยู่ในสภาฯ) ทั้งนี้ ยังไม่รวมภาระที่สั่งการให้ธนาคารของรัฐ จ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรไปก่อน โดยไม่บันทึกว่าเป็นหนี้ แต่ครม.มีมติว่าจะใช้คืนให้ด้วยงบประมาณในภายหลัง

สร้างหนี้เองกันขนาดนี้ ยังจะไปโทษคนอื่น แถมยังไม่สนใจจะค้นหาคำตอบว่า “สร้างหนี้ขนาดนี้ ทำไมเศรษฐกิจจึงย่ำแย่?” หรือยังไงก็ไม่มีปัญญาจะตอบ จึงทำได้เพียงแค่เบี่ยงประเด็น


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน