“สุริยะ” หวังเจรจาเปิดพื้นที่เหมืองใหม่ แลกคิงเกตฯ เจ้าของเหมืองอัคราถอนฟ้องรัฐบาลไทย แต่ต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายแร่ใหม่ ที่เข้มงวดสิ่งแวดล้อม – ดูแลสุขภาพชาวบ้านพื้นที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางหาข้อยุติกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

ยื่นอนุญาโตตุลาการฟ้องรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2559 ระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ว่า

ขณะนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อยู่ระหว่างหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อยุติเรื่องดังกล่าว ก่อนไทยไทยจะเข้าสู่กระบวนการเบิกความต่อหน้าอนุญาโตตุลาการที่ฮ่องกง ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ จึงยังมีเวลาให้เจรจา หากสามารถตกลงกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ก็สามารถเลื่อนการเบิกความต่อหน้าคณะอนุญาโตตุลาการได้

“หนึ่งในทางเลือก คือ เจรจากับเอกชนอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่จะต้องดำเนินการ ไม่ให้เกิดการเสียเปรียบหรือเอาเปรียบเอกชน เช่น การให้สัมปทานกับเอกชนเพิ่มเติม หรือการเปิดให้สำรวจแร่เพิ่มเติม แต่เอกชนจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แร่ ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ส.ค.2560

ที่มีขั้นตอนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเข้มงวด หากเอกชนสามารถทำตามเงื่อนไขได้ทั้งหมด ก็สามารถทำได้ แต่หากเอกชนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขตามกฎหมายได้ ก็จำเป็นจะต้องยกเลิกไป ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นข้อเสนอและเงื่อนไข เพราะรัฐบาลต้องดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ”

ที่ผ่านมาคิงส์เกต เคยได้ยื่นหนังสือเพื่อจะขอเจรจากับทางรัฐบาลมาแล้ว หากทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมก็สามารถเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐบาลจึงต้องหาข้อเสนอและเงื่อนไข อย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะปัญหานี้มีความละเอียดอ่อน ดังนั้นการเจรจาสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงภายใน 10 วันนี้

กรณีเหมืองทองดังกล่าว เกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้าน และมีการตั้งคณะทำงานจากหลายกระทรวงร่วมพิสูจน์ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คสช.จึงใช้อำนาจ ม.44 สั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้เหมืองทองของบริษัทอัคราฯ ต้องยกเลิกการทำเหมือง และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองทองของบริษัท

ต่อมานายเกร็ก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อัคราฯ สมัยนั้น เดินทางมาไทยขอพบนางอรรชกา ศรีบุญเรือง สมัยเป็นรมว.อุตสาหกรรม แต่นางอรรชกา ให้นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงขณะนั้น พบแทน และต่อมาเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นนายอุตตม สาวนายน ก็ไม่ให้พบเช่นกัน

สุดท้ายทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ บริษัทแม่ของบริษัท อัคราฯ ตัดสินใจฟ้องรัฐบาลไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า)

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการเหมือง เผยว่า การประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองบริษัท อัคราฯ วัดจากปริมาณสำรองแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 37,020 ล้านบาท และเงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,984 ล้านบาท สามารถผลิตได้ในช่วง 8-10 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมี ประกอบด้วย ทอง 162 ล้านออนซ์ เงิน 28.4 ล้านออนซ์ ข้อมูลเหล่านี้คิงส์เกตได้ยื่นต่ออนุญาโตฯ ให้พิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายอื่นๆ อาทิ การเยียวยาพนักงาน เพราะจนถึงปัจจุบันทางรัฐบาลยังไม่มีข้อยุติทางวิทยาศาสตร์ ว่าเหมืองของบริษัท อัคราฯ ปล่อยสารพิษจนกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรอบเหมือง แต่ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมือง ทางบริษัท คิงส์เกตฯ จึงฟ้องร้องว่าไทยละเมิดการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน