‘โจ้’ ลั่น ‘ตู่-ป๊อก’ ต้องรับผิดชอบ ปมต่อสัมปทานบีทีเอส ส่อทุจริต ขู่ยื่นศาลนักการเมือง

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของ นายยุทธพงศ์​ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กรณี “หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งที่ 3/2562 มายกเว้น พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ.2562 ในการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว” โดยนายกฯ มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นผู้ชี้แจงแทน

นายยุทธพงศ์​ กล่าวว่า ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์มาตอบ เพราะการให้มท.1 มาตอบแทนจะสามารถรับผิดชอบทางกฎหมายได้หรือไม่ เพราะกรณีนี้เป็นปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสและส่อไปในทางทุจริต ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ดังนั้น มท.1 ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ แล้วจะรู้ถึงเหตุผลหรือไม่ว่าท่านมีคำสั่งฉบับนี้ออกมา แต่เมื่อตนถาม มท.1 ท่านก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายยุทธพงศ์​ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ แล้ว มีรายละเอียดรัดกุมมาก แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับออกคำสั่งคสช.มายกเว้น ระหว่างการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จึงอยากถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช. มาออกคำสั่งที่ 3/2562 มายกเว้นกฎหมายร่วมลงทุนฯ ที่ออกมาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เองทำไม

นอกจากนี้การอ้างเรื่องหนี้มาเป็นเหตุแห่งการต่อสัมปทาน ซึ่งหนี้ก้อนนี้ถือเป็นหนี้ระหว่างรฟม.กับกทม. ซึ่งถือเป็นหนี้ของรัฐเหมือนกัน ซึ่งเปรียบเสมือนกระเป๋าซ้ายกับกระเป๋าขวาของรัฐทั้งหมด จึงส่อให้เห็นว่า มีความเร่งรีบต่อสัญญาสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปี ทั้งที่สัมปทานเดิมยังเหลืออีก 10 ปี กรณีดังกล่าว สภาได้ส่งความเห็นของกมธ.วิสามัญฯ ที่มีส.ส.หลายพรรคการเมือง เพื่อยับยั้งการต่อขยายสัมปทานนั้น รัฐบาลได้ศึกษารายละเอียดหรือไม่ แล้วได้รับจดหมายของตนที่ส่งถึงครม.ทั้งคณะ เพื่อขอให้ยับยั้งการต่อสัมปทานหรือไม่

“หากรัฐบาลมั่นใจว่าตรวจสอบได้ ผมขอท้าให้ไปออกทีวีดวลกับผมตัวต่อตัวหรือไม่ ว่าเพราะเหตุใดถึงเร่งรีบทั้งๆ ที่รถยังวิ่งให้บริการได้อยู่ และทำไมถึงไม่รอให้สัมปทานหมดก่อนจึงเปิดประมูลใหม่เพื่อให้บริษัทอื่นที่สนใจเข้ามาร่วมประมูล ประชาชนก็ได้ประโยชน์สูงสุด” นายยุทธพงศ์ กล่าว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า เหตุจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกคำสั่งคสช. เนื่องจากปัญหาในระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อการให้บริการประชาชน และการบริหารหนี้ด้วย หากมองว่าการต่อสัมปทานครั้งนี้ส่อมีการทุจริต ก็เป็นธรรมดาที่จะมองได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเจตนาเพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนที่จะต้องแบกรับค่าบริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะออกคำสั่งคสช.มายกเว้นกฎหมายร่วมลงทุนฯ แต่ตนยืนยันได้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาดูตามองค์ประกอบ ได้มีการแต่งตั้งครบทุกคน และมีเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย อาจะพูดได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้อาจเป็นไปด้วยนัยยะที่จะให้ประโยชน์ให้กับรัฐเพื่อจะแก้ปัญหาแล้ว

“จดหมายที่ท่านส่งมา ผมได้รับแล้ว รวมถึงข้อคิดเห็นของสภาฯ ด้วย ซึ่งผมจะรับไว้ และจะนำเรียนนายกฯ เพื่อพิจารณา รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย ยืนยันอีกครั้งว่าที่จำเป็นต้องขยายนั้นเป็นเรื่องหนี้สาธารณะ ที่กทม.ต้องรับมาจากรฟม. ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 1 พันล้านบาท และกทม.ต้องชดใช้เงินต้น”

“ดังนั้น ผมถามว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาชดใช้ให้กับคน กทม. สมควรหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ครม.ยังต้องหารายละเอียดก่อนพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป ส่วนเวทีที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนนั้น ท่านส.ส.ก็มีรัฐสภา มีกลไกลที่จะใช้วิธีการยื่นกระทู้ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ท่านมีทุกอย่าง ก็น่าจะเป็นแนวทางของประเทศที่จะเดินหน้าทุกอย่างอยู่แล้ว” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน