ผู้ตรวจ มีมติส่งศาลรธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ยันไม่เกี่ยว กมธ.ปปช. เรียก ‘บิ๊กตู่’

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 พ.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129 และให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 231(1) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 23(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ภายในวันนี้

เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการของทั้ง 2 สภา มีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาอยู่นั้นได้ และเพื่อให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 13 ก็ได้บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้กำหนดกลไกการดำเนินกิจการของทั้ง 2 สภาไว้ในมาตรา 129 ให้คณะกรรมาธิการทั้งสองสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้น และได้บัญญัติวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามที่กมธ.ทั้ง 2 สภาต้องการในลักษณะมาตรการเชิงบังคับว่าให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการของทั้ง 2 สภาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา

ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาเรียก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภากระทำกิจการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามการเรียกของกมธ.

จึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 ให้กมธ.มีอำนาจเพียง “เรียก” มิได้ให้อำนาจในการ “ออกคำสั่งเรียก” เหมือนมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงถือว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129

นายรักษเกชา ยืนยันว่าการพิจารณาดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นการพิจารณาข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้เกี่ยวกับการที่กมธ.ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎรจะออกคำสั่งเรียกนายกรัฐมนตรี กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และเมื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เป็นดุลยพินิจของประธานกมธ.ที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร กับคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลที่ได้มีมาก่อนหน้านี้ เพราะผู้ตรวจไม่ได้มีอำนาจที่จะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระงับคำสั่งเรียกดังกล่าวได้ รวมทั้งเป็นดุลยพินิจของผู้ที่ถูกเรียกว่าจะไปให้ข้อมูลหรือรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน