“ทวี สอดส่อง” พาย้อนในอดีต ประเทศไทยเคยมี “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ชี้ เป็นผู้ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” ของประชาชน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้เล่าถึงในอดีตเมื่อครั้งยังไม่มีองค์อิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้ใช้ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน โดยระบุว่า

อดีตประเทศไทยมี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรสูงสุดการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยไม่มี “ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่การวินิจฉัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน และถูกยกเลิกไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีตมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ที่ประชาชนเลือกตั้งมาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยส่วนใหญ่ ดังเช่น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นครั้งแรก มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้ง เป็นประธานคณะตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีก 14 คน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วยประธาน วุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน โดยกำหนดให้ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 3 คน และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธาน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือสาขารัฐศาสตร์ อีกหกคน ซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

การวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการกระทำใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น เห็นควรเป็นอำนาจที่ขององค์กรที่ยึดโยงกับประชาชน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกตั้งมาและเป็นผู้ร่างกฎหมาย ย่อมมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ตราออกมา ดังนั้น โครงสร้างของ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จึงสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ส่วนอำนาจของผู้พิพากษา ตุลาการ หรือศาล ไม่ใช่ผู้บัญญัติกฎหมายเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ หน้าที่หลักของฝ่ายตุลาการคือ การพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีโดยทั่วไป อันเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อปรับว่าเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายใดอันเป็นการบังคับใช้กฎหมายเป็นคดีๆ ไป

ในอดีต “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” มีผลงานที่ดี เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน ในฐานะองค์กรพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ที่เป็น “กฎหมายสูงสุด” ของประเทศ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน