ธนาธร จี้ ผบ.เหล่าทัพ แจงงบ “สนามม้า-มวย” ไร้คำตอบปมไอโอ นายพลรวยผิดปกติ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กของนายธนาธร ภายหลังเหล่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าชี้แจงงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 233,353,433,300 บาท ต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

โดยระบุว่า ธนาธรขอกลาโหมเผยสัญญาสัมปทานวิทยุ-ทีวี ขอรายละเอียดสนามม้า-มวย-หวย-งบไอโอ สงสัยทำไมเหล่านายพลรวยผิดปกติ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในโอกาสที่วันนี้ ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมได้มาชี้แจงต่อ กมธ. นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

ธนาธรได้ตั้งคำถามประเด็นแรก เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหม รวม 18,657 ล้านบาท ซึ่งมากเกือบเท่างบประมาณของกระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมกัน (1.9 หมื่นล้านบาท) เอาไปเป็นงบสร้างรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หัวหิน ได้เกือบครบเส้น (2 หมื่นล้านบาท) หรือเอาไปเฉลี่ยเป็นเบี้ยเด็ก 0-6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เงินนอกงบประมาณทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด หรือเว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือตกลงกับกระทรวงการคลัง ไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งระเบียบการคลัง ทำไว้กับกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียว ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมให้ถือปฏิบัติการบริหารตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม เท่ากับให้อำนาจพิเศษแก่กระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นๆ ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหม แบ่งเงินนอกงบประมาณเป็น 2 บัญชี เงินในบัญชีที่ 2 อนุญาตให้ตั้งในระบบบัญชีเอง และตั้งระบบตรวจสอบบัญชีเองได้ หมายความว่างบประมาณบางส่วนของกลาโหมมีความไม่โปร่งใส

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
ธนาธรจึงขอให้กระทรวงกลาโหมเปิดเผยรายละเอียด ดังนี้

1.รายได้จากการใช้ทรัพยากรคลื่นวิทยุย้อนหลัง 10 ปี
2.รายชื่อบริษัทผู้รับบริหารสัมปทานคลื่นวิทยุ และสัญญากับทุกบริษัท
3.สัญญาระหว่างกองทัพบกกับ ช่อง 7 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2512
4.รายได้จากการให้สัมปทานช่อง 7 ทุกปี ตั้งแต่ปี 2512
5.รายได้อัตราค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ MUX
6.ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ
7.รายละเอียดเงินนอกงบประมาณประเภท 1 และ 2 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง

ธนาธร กล่าวว่า เหตุที่อยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้ เพราะประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมบรรดานายพลจึงร่ำรวยผิดปกติ โดยดูจากบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. เมื่อเดือน พฤษภาคม 2562 รายได้ของนายพล 81 คน ที่อยู่ใน สนช. มีทรัพย์สินเฉลี่ย 78 ล้าน รายได้เฉลี่ย 12.72 ล้านบาทต่อปี หรือมีทรัพย์สิน 6.13 เท่าของรายได้ รายได้และทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถได้มาโดยลำพังเงินเดือนการเป็นทหารอย่างเดียว หมายความว่านายพลส่วนใหญ่มี “side business” หรือทำธุรกิจคู่ขนานกับการรับราชการ

ธนาธรยังย้ำด้วยว่า ได้ขอข้อมูลดังกล่าวไปตั้งแต่ตอนกระทรวงการคลังมาชี้แจงต่อ กมธ. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับเอกสารชี้แจงข้อมูลที่ขอไป

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตอบว่า เงินนอกงบประมาณที่สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ไม่ได้มาจากการจัดทำของกระทรวงกลาโหม แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา และการเบิกจ่ายก็เป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกระทรวงอื่นๆ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องความโปร่งใสของรายได้นายพล ผบ.สส. ยืนยันว่าผู้ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ละคนอาจมีฐานความร่ำรวยแตกต่างกัน และได้แสดงความโปร่งใสผ่านการแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ทั้งก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่ง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ พล.อ.พรพิพัฒน์ ยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดส่งเอกสารให้แก่ธนาธรต่อไป

ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่าเงินนอกงบประมาณ บางส่วนเป็นรายได้จากโรงพยาบาลของกองทัพ ซึ่งประชาชนก็เข้ารับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รายรับบางส่วนจะนำกลับมาหมุนเวียนในการบริหาร ส่วนกรณีค่า MUX ช่อง 5 และช่อง 7 ช่อง 7 ได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ส่วนในกรณีการปรับลดอัตรากำลังพล กองทัพมีแผนการปรับลดกำลังพลอยู่แล้ว ทั้งนายพลและพลทหาร อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้ตอบคำถามกรณีความร่ำรวยผิดปกติของเหล่านายพลแต่อย่างใด

ในประเด็นต่อมา ธนาธรตั้งคำถามถึงกิจกรรมของกองทัพที่ไม่อยู่ในภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นม้า มวย หวย หรือกิจการพาณิชย์ สนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ใช้งบประมาณ 380 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่รามอินทรา ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกิจการของรัฐหรือเอกชนกันแน่ ทั้งที่สนามมวยนี้อยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก

ก่อนหน้านี้ก็ได้ข่าวว่าไปสร้างสนามมวยที่ทุ่งมหาเมฆ แต่ไม่ได้ใช้งาน เพราะโปรโมเตอร์เห็นว่าเดินทางไม่สะดวก สูญงบประมาณไปอีก 50 ล้านบาท ส่วนรายได้ของสนามมวยลุมพินี ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีรายได้กว่า 400 ล้านบาท ถูกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสนามมวยลุมพินี อยากทราบว่ารายละเอียดการบริหารจัดการกองทุนนี้เป็นอย่างไร ใครเป็นคนบริหาร ส่วนการสร้างสนามมวย ตกลงใช้งบส่วนใด ถ้าเป็นงบราชการก็ขอดูรายละเอียดการเปิดประมูล การจัดซื้อจัดจ้างโครงการด้วย

เช่นเดียวกับกรณีของสนามม้า เช่น อัศวราชสีมาสโมสร องค์กรค่ายสุรนารี ทหารผ่านศึกราชสีมาสมาคม ที่ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ สนามม้าเหล่านี้อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือไม่ และรายได้จากสนามม้าไปอยู่ที่หน่วยงานใด ได้จ่ายภาษีจากการดำเนินกิจการพนันให้กรมสรรพสามิตหรือไม่ โดยธนาธรยืนยันว่าต้องการดูงบการเงินของสนามม้าทั้งหมดของกองทัพ และถามกลับด้วยว่าหากสนามม้า สนามมวย ยังต้องมีอยู่ ทำไมจึงต้องขึ้นกับกองทัพ ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

ธนาธรยังถามอีกด้วยว่ามีข้อมูลมากมายปรากฏทั่วไปว่ากองทัพมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร มีแม้แต่เอกสารวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องดังกล่าว และมีแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานทหาร แต่โพสต์ข่าวใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองบางพรรคอย่างต่อเนื่องด้วยวาทะเกลียดชัง สร้างความแตกแยกในสังคม ธนาธรจึงถามไปยังกระทรวงกลาโหมว่าทางกระทรวงมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ถ้ามี อยู่ในหน่วยงานใด ใช้งบเท่าไหร่ และหากมีปฏิบัติการนี้ อำนาจในการกำหนดเนื้อหา เช่นใครเป็น “ศัตรูของชาติ” หรืออะไรคือ “ความจริงที่ถูกต้อง” อยู่ที่ใคร?

ในกรณีนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.สส. ยืนยันว่าการดำเนินกิจการมวย ม้า มาจากกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และการดูแลสวัสดิการทหารผ่านศึก แต่หากจะให้ตอบว่าการให้กิจการเหล่านี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ากองทัพทำแบบนี้มานานแล้ว คงต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำตอบจากผบ.เหล่าทัพ ต่อกรณีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอที่โจมตีพรรคการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน