เพื่อไทย ตั้งญัตติถามความคืบหน้าคดีทุบ “จ่านิว” โรม ซัดรัฐมาเฟียเพิกเฉยจับตัวคนร้าย อนค. โวยคณะทำงานประธานสภาฯ ดูถูกนักศึกษา “ชวน” กรีดกลับ มีคนให้ท้าย

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบและศึกษา ติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกประทุษร้ายของประชาชน ตามที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ พร้อมนำญัตติอื่นๆ ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันมารวมพิจารณา

นายจิรายุ อภิปรายว่า เหตุการณ์ลอบทำร้าย “จ่านิว”นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผ่านมา 6 เดือน แต่ตำรวจยังจับคนร้ายไม่ได้ แสดงว่าประเทศนี้อยู่ยาก รัฐบาลรณรงค์โครงการชิมช้อปใช้ ให้คนเดินทางไปท่องเที่ยว แต่ความปลอดภัยมีหรือไม่ เรื่องเล็กแค่นี้ยังดูแลไม่ได้ จะไปดูความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างไร

การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีมากมาย แต่ทุกเรื่องเหมือนเดิม อย่างน้อยประชาชนต้องมีความปลอดภัย 80 % ขอให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯ เร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่คุยหนักหนาว่า ฆาตกรต่อเนื่องยังจับได้ แต่ทำไมเหตุทำร้ายร่างกายจ่านิวกลางวันแสกๆ กลางกรุงเทพฯ ทำไมยังจับไม่ได้

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า การก่อเหตุทำร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ก่อเหตุมีการเตรียมการ แบ่งหน้าที่อย่างดี และมีการแจ้งความทุกคดี แต่ 13 เหตุการณ์ประทุษร้ายนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จับคนร้ายได้แค่ 2 คดี

เนื่องจากผู้ก่อเหตุทำแบบฉายเดี่ยว แต่ถ้าทำเป็นระบบ กลับเอาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษหรือหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังไม่ได้ โดยเฉพาะคดีทำร้ายจ่านิว กลางวันแสกๆ มีกล้องวงจรปิดจับภาพได้ ผ่านมา 6 เดือนยังไม่มีแม้กระทั่งการออกหมายจับ สังคมไทยจะอยู่กันแบบนี้ใช่หรือไม่ สุดท้ายคดีถูกดอง การเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การก่อเหตุลักษณะนี้ลุกลามบานปลายทั้งด้านจำนวนและความรุนแรง

“วันนี้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกทำร้าย ถ้ายังปล่อยให้เป็นรัฐมาเฟียต่อไปเรื่อยๆ วันหน้าอาจเป็นผมหรือประธานถูกทำร้ายก็ได้ เพราะคนที่คุมคนกลุ่มนี้ได้มีกี่คน ประชาชนจึงตั้งคำถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับการตีหัวจ่านิวหรือไม่

สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ควรใช้ได้จริง ไม่ใช่ถูกเพิกเฉย เพียงเพราะการหย่อนยานของเจ้าหน้าที่รัฐ หากยังปล่อยให้คดีหายเข้ากลีบเมฆ ปัญหาการละเมิดสิทธมนุษยชนจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ หวังว่ากรรมาธิการชุดนี้จะช่วยให้ประเทศน่าอยู่ เป็นหลักประกันว่าสังคมไทยเคารพกฎหมาย”นายโรม กล่าว

นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า เรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีให้เห็นอยู่ ล่าสุดการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ก็ถูกผู้มีอำนาจกดดันไม่ให้ใช้สถานที่แถลงข่าวการจัดกิจกรรม ทั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และโรงแรมรัตนโกสินทร์

สุดท้ายต้องไปใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถานที่แถลงข่าวแทน หรืออย่างเหตุการณ์ในสภาฯ เมื่อครั้งที่นายพริษฐ์ ชิวรักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มายื่นหนังสือและมอบพจนานุกรมให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ไปศึกษาคำว่า ลงคะแนนใหม่ กับนับคะแนนใหม่ ตอนมีปัญหาการโหวตญัตติตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 แต่ปรากฏว่าถูกคณะทำงานประธานสภาฯ ที่ลงมารับเรื่องใช้ถ้อยคำดูถูกต่อว่า มีใครอยู่เบื้องหลังและรับจ้างใครมา ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนางอมรรัตน์อภิปรายจบ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น กล่าวชี้แจงว่า กรณีที่ระบุว่าคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎรพูดไม่เหมาะสมนั้น ได้รับรายงานจากคณะทำงานว่า

เหตุการณ์วันดังกล่าว มีนักการเมืองบางคนคอยส่งสัญญาณยุให้กลุ่มนักศึกษาพูด ซึ่งตนได้รับฟังข้อเท็จจริงและข้อมูลเบื้องหลังที่เข้ามาให้กำลังใจตนในวันนี้ (19 ธ.ค.) ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่มายื่นหนังสือให้ตน เล่าให้ฟังว่ามีลูกนักการเมืองคนหนึ่ง และกลุ่มนักศึกษามีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร

ทำให้นางอมรรัตน์ประท้วงว่า นักการเมืองที่นายชวนพูดถึง อาจเป็นคนที่อยู่พรรคเดียวกับตน แต่ในวันดังกล่าว นักการเมืองคนดังกล่าวแค่ไปรอต่อคิวแถลงข่าวเท่านั้น นายชวนจึงกล่าวตอบว่า ตนทราบข้อเท็จจริง ไม่เคยกล่าวร้ายใคร หากนางอมรรัตน์อยากทราบข้อเท็จจริงให้มาพบตนเป็นการส่วนตัว จะได้ทราบว่าใครเป็นใครอย่างไร


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน