วันที่ 17 พ.ค. ที่ลานสันติพร อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม มีการจัดกิจกรรมรำลึก “25 ปี พฤษภาประชาธรรม” โดยมีผู้ร่วมงานจำนวนมาก เช่น นายโคทม อารียา นักสันติวิธี ในฐานะประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนปี 35 นางพะเยาว์ อัคฮาด มาราดาน.ส.กมลเกด พยาบาทลอาสา 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตในวัดปทุม จากการสลายการชุมนุมนปช. เมื่อปี 2553 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และพล.ต.เฉลิม เรืองทอง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ตัวแทนจากกองทัพบก

นายโคทม กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ไม่อยากให้ประชาชนเกิดการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บในสังคมไทยเกิดขึ้นอีกแล้ว ไม่ใช่เฉพาะการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจากการสลายการชุมนุมในปี 2535 แต่ยังหมายถึงการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย จากเดิมคนทั่วไปอาจมองว่า กองทัพกับประชาชนคือคู่ขัดแย้งในบางกรณี แต่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ เพราะมีตัวแทนจากกองทัพบกมาร่วมวางพวงมาลารำลึกด้วย จึงถือเป็นิมิตหมายใหม่ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เราจะไม่ทะเลาเบาะแว้งและเริ่มต้นสร้างความสามัคคีปรองดองในอนาคต เหมือนที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2535 เราเคยผ่านเหตุความขัดแย้งรุนแรง ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชดำรัสที่ขอให้ทุกฝ่ายเลิกขัดแย้งและรักสามัคคีปรองดองกัน

ด้านพล.ต.เฉลิม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิศาสน์ ผบ.ทบ. เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกในครั้งนี้ จากเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 สังคมไทยต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนกลายเป็นเรื่องเศร้าเสียใจที่คนไทยทุกคนจะลืมไม่ได้ ต้องจดจำเรื่องราวของผู้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ ตลอดจนญาติผู้ได้รับผลกระทบทุกคน เราจะต้องจดจำเรื่องนี้ตลอดไป ไม่ให้บ้านเมืองเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เหตุความรุนแรงในปี 2535 ยุติลงด้วยพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราต้องน้อมนำพระราสดำรัสนี้มาใช้ปฏิบัติต่อไป

“เราอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เมื่อมีความคิดเห็นต่างกันก็ควรหันหน้าเข้าคุยกัน ต้องไม่ใช้วิธีแตกหักรุนแรง เราจะต้องไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก กองทัพและตำรวจ เป็นของประชาชน กองทัพและตำรวจ รักประชาชน กองทัพและตำรวจยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุกคนต่างรักชาติเหมือนกัน ลานจัดงานรำลึกแห่งนี้จะเป็นลานสันติภาพในอนาคต ที่จะเต็มไปด้วยความสามัคคีไม่ขัดแย้ง พูดคุยกันอย่างสันติฉันญาติมิตร” พล.ต.เฉลิมกล่าว

นายองอาจ กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เกิดขึ้นจากประชาชนที่เรียกร้องต้องการประชาธิปไตย แต่ 25 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางการเมืองไทย มีปัญหาแทรกซ้อนมาโดยตลอด เกิดการสูญเสียขึ้นอีกหลายครั้งหลายหน ผู้ปรองครองที่ถืออำนาจรัฐจะต้องตระหนัก หากมีการใช้อำนาจเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง พี่น้องประชาชนก็จะลุกขึ้นต่อสู่กับความอยุติธรรม ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ อีก การจัดงานรำลึกในปัจจุบันหวังว่า จะเป็นการเรียนรู้ เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

นายอดุลย์ กล่าวว่า 25 ปีที่ผ่านไป บทเรียนที่ชัดเจนที่สุดคือ การมีตัวแทนจากกองทัพบกมาร่วมงาน ตามคำเชื้อเชิญไปยังผบ.ทบ. ถือเป็นก้าวแรกที่สะท้อนว่า สังคมไม่ควรแบ่งฝ่าย การร่วมแสดงออกของตัวแทนจากกองทัพในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสามัคคีปรองดอง เลิกขัดแย้ง ไม่ว่า เราจะเห็นต่างกันหรือไม่ พรรคการเมืองและแกนนำมวลชน ต้องยอมรับความเห็นต่อกันและกัน เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ อยากวิงวอนให้รัฐบาลนี้ช่วยหาทางจัดการเรื่องบุคคลสูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 ให้เรียบร้อย เพราะอนุเสารีย์ ที่จะต้องสลักชื่อวีรชนผู้เสียชีวิต ไม่อาจเกินต่อไปได้หากเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

ส่วนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีกระทรวงกลาเป็นเจ้าภาพ นายอดุลย์ กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองของสปช. ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน เห็นว่าผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาช่วยสร้างความปรองดองได้ ขึ้นอยู่กับว่ากลาโหมจะสนใจหรือไม่ และในฐานะผู้สูญเสีย เห็นว่า ผลของการสร้างความปรองดองโดยกระทรวงกลาโหมจะไม่สมบูรณ์ มีแต่พรรคการเมืองและแกนนำมวลชนเข้นร่วม แต่สำหรับประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้ร่วมแสดงความเห็น ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่การปรองดอง เป็นแต่เพียง การประนีประนอม หรือฮั้วกัน ก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น กระทรวงกลาโหมจะต้องใจกว้างกว่านี้

นายจตุพร กล่าวว่า สรุปผลงาน 3 ปี คสช. คงต้องไปถามพี่น้องประชาชนทั่วไปว่า มีความสุข หรือมีความทุกข์ กับการบริหารประเทศของคสช. ตลอด 3 ปีมานี้ ยอมรับว่า ระเบิดการเมืองหลายลูกไม่อาจทำลายคสช.ได้ ซ้ำยังอาจจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ คสช. อยู่ต่อไปได้อีก อย่างระเบิดที่สนามหลวง ก็มีคนเจ็บแค่คนเดียว คือ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ที่ดันออกมาบอกว่า ไม่ใช่ระเบิดเป็นแค่เพียงท่อประปาแตก แต่ทว่าระเบิดลูกที่ใหญ่ที่สุดคือ ระเบิดปากท้อง ที่ทุกวันนี้ ประชาชนต่างขายสมบัติกินกันแทบจะหมดแล้วและปัญหาปากท้องนี่เอง ที่จะทำให้ทุกคนหันกลับมานึกถึงประชาธิปไตย

นายจตุพร กล่าวอีกว่า สำหรับการสร้างความปรองดอง รัฐบาลนี้ได้อัญเชิญกระแสรับสั่งมาชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกับ คสช.มาโดยตลอด คงต้องรอทางกระทรวงกลาโหมและผบ.ทบ. ที่กำหนดว่า ข้อสรุปอันเป็นสัญญาประชาคมต่อทุกฝ่าย จะเสร็จสิ้นช่วงเดือนมิ.ย.นี้ จะเป็นอย่างไร โดยสัญญาประชาคมฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นก่อนการเลือกตั้ง ถ้าไม่มี เมื่อเลือกตั้งไป สถานการณ์ก็จะกลายเป็นเหมือนเดิม หากได้นายกฯคนนอก ที่มีเสียงข้างน้อยในสภาก็ไปไม่ได้ หรือหากได้นายกฯคนใน องค์กรอิสระที่มีอยู่ก็พร้อมจะเอาลง ไปต่อไม่ได้เช่นกัน

“การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น ขอให้ดูพม่าเป็นตัวอย่าง แม้รัฐธรรมนูญจะให้ทหารนั่งเก้าอี้ในรัฐสภาไปแล้วร้อยละ 25 แต่ประชาชนก็จะฝ่าวงล้อมไปลงคะแนนจนได้ตามที่ต้องการ เมื่อนั้น ก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน การแก้ไขมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กลับไปเหมือน มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็ถือว่า รัฐบาลคสช.ลดวิกฤติการเมืองไปได้แล้วระดับหนึ่ง” ประธานนปช.กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน