แถลงการณ์-ข้อกำหนดสกัดโควิด

แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์-ข้อกำหนดสกัดโควิด – เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ตามที่นายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบของครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 และตามคำแนะนำของผู้บริหาร และนักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 จนถึง 30 เม.ย.2563

การประกาศสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ตั้งแต่พ.ศ.2548 อันเนื่องจากขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหญ่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน

ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาที่ได้ผล รัฐบาลได้ใช้มาตรการป้องกัน สกัดกั้น ชะลอ และสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นลำดับ และประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน ตามความคืบหน้าของสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และคำแนะนำทางการแพทย์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนด้านสังคมความเป็นอยู่ เศรษฐกิจการครองชีพ ทรัพยากรของรัฐด้านการสาธารณสุข และป้องกันการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ

บัดนี้ทุกฝ่ายเห็นว่าสถานการณ์ควรยกระดับขึ้นสู่การบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดได้แล้ว เพื่อว่ารัฐจะสามารถนำมาตรการอื่นๆ มาบังคับใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนจะเลือกใช้มาตรการใดก่อนหลังจะมีการออกประกาศและข้อกำหนดแจ้งให้ทราบต่อไป แต่ในเบื้องต้นจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียก่อน ซึ่งได้ประกาศแล้วในวันนี้

ผลจากการประกาศดังกล่าวคือรัฐบาลจะมีช่องทางตามกฎหมายเข้าควบคุม หรือบริหารสถานการณ์ได้ เช่น จะมีการโอนอำนาจบางประการของรัฐมนตรี ตามกฎหมายบางฉบับมาเป็นของนายกรัฐมนตรี เท่าที่จำเป็นและเป็นการชั่วคราวเพื่อความรวดเร็วและบูรณาการ จะมีการออกข้อกำหนดคือ ข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติบางอย่าง เช่น ห้ามเข้าออกสถานที่บางแห่ง ห้ามหรือจำกัดการเข้าออกราชอาณาจักร และการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากข้ามเขตพื้นที่การควบคุม การใช้ยานพาหนะ เส้นทางจราจร การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์

มาตรการเหล่านี้แม้จะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และแม้ว่าสถานการณ์จากตัวเลขจำนวนผู้ได้รับเชื้อและการเสียชีวิตในประเทศจนถึงปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่หากยังมีการเคลื่อนย้าย หรือเดินทาง การรวมกลุ่มคนจำนวนมากเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน การติดต่อสัมผัสหรือใกล้ชิด และการขาดความรู้ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ ตลอดจนการไม่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรการป้องกันโรคตามหลักสากล

ประกอบกับกำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาเทศกาลและการเปลี่ยนฤดูกาลตามธรรมชาติ เชื้อโรคโควิด-19 ย่อมมีโอกาสแพร่ไปได้เร็ว และเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และกระทบต่อการใช้ทรัพยากรด้านการสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ จนอาจขาดแคลนเข้าวันหนึ่ง อันนำมาซึ่งความสูญเสียรุนแรง สุดจะประมาณได้ดังที่ปรากฏในบางประเทศในขณะนี้

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียแต่บัดนี้เพื่อความไม่ประมาท อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจแกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและคลายความวิตกกังวลของประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะช่วงเวลานี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาเลือกใช้เฉพาะมาตรการเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อป้องกัน และระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยถือว่าการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยและชีวิตประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเวชภัณฑ์ และการให้บริการทางการแพทย์ ให้ทั่วถึงเพียงพอแก่ประชาชนชาวไทย มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นลำดับแรก

แน่นอนว่าความสะดวกสบายของประชาชนในระหว่างนี้ย่อมลดน้อยลงกว่าเดิม เพราะทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่เกิดภาวะขาดแคลน ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจะได้ทยอยดำเนินการ ต่อไปในยามนี้เรากำลังต่อสู้กับมหันตภัยที่มองไม่เห็นตัวคือเชื้อโรค และอาจจู่โจมมาถึงเราทุกคนในทุกพื้นที่ได้ทุกเมื่อ จึงจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์และบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุดเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน จึงจะเป็นเช่นนี้ไประยะหนึ่งตามที่กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลประกาศได้เป็นคราวๆไป คราวละไม่เกิน 3 เดือน แต่อาจประกาศขยายเวลาต่อได้อีกตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์

อันที่จริงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้กระทำมาในหลายปีแล้ว ในขณะนี้ในบางพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อาศัยเหตุแห่งการประกาศใช้ที่แตกต่างไปจากครั้งนี้

รัฐบาลขอให้ประชาชนไว้วางใจในระบบสาธารณูปโภคของประเทศ และโปรดดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเพราะความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐโดยแท้ ขณะเดียวกันโปรดให้ความร่วมมือกับทางการในการปฏิบัติตามมาตรการและคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ทางช่องทางที่เป็นทางการ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ระบุแหล่งข่าวอ้างอิงเชื่อถือได้ มิใช่ข่าวลือหรือข่าวที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มา

หากมีข้อสงสัยให้สอบถามได้ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์ โควิด-19 หมายเลข 1111

ขณะนี้การอยู่กับบ้านตามคำกล่าวที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การไม่รวมกลุ่มกับผู้คนจำนวนมาก การใช้มาตรการป้องกันโรคเพื่อตนเองและแสดงความรับผิดชอบยต่อสังคม เช่น การใช้หน้าหากอนามัย เจลล้างมือ การหมั่นล้างมือ การไม่สัมผัสหรือรับเชื้อที่มากับฝอยละอองน้ำ การเว้นระยะสัมผัสห่างจากผู้อื่น การไปพบแพทย์ในกรณีต้องสงสัย เป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้วว่าสามารถลดความเสี่ยงได้ดีที่สุดเท่าที่เราจะป้องกันตนเองได้ คนที่ท่านรัก และประเทศชาติได้

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องรัฐบาลจะแถลงให้ทราบเป็นระยะๆ ในโอกาสต่อไป

ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9

แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548(ฉบับที่ 1)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่ว ราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 แล้วนั้น

เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือ สถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดในมติครม.วันที่ 17 มี.ค.2563 หรือตามที่ผู้ว่าฯกทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่ง ตามพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับและที่ทางราชการจะประกาศให้ทราบต่อไป

ในกรณีที่ได้รับการผ่อนผันให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11 ให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าฯกทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามวรรคหนึ่ง เป็นคำสั่งตามข้อกำหนดนี้

ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ให้ผู้ว่าฯกทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นการชั่วคราว แต่อย่างน้อยให้สั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้

(1) สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น

(2) ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ตามพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น

(3) สถานที่อื่นนอกจากนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด และอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนไขเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงโอกาสเสี่ยงต่อการติดต่อโรค ความจำเป็นของประชาชนในการจัดหาสิ่งอุปโภคบริโภคและการเดินทาง โดยเฉพาะในระยะแรกซึ่งต้องมีการเตรียมตัวหรือปรับตัว

ในกรณียังไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ใด ให้เจ้าของหรือผู้ดูแล สถานที่นั้นจัดให้มีมาตรการคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11 หรือจัดระบบให้สอดคล้อง กับมาตรการดังกล่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง สำหรับผู้โดยสารหรือผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่

(1) เป็นกรณีหรือผู้มีเหตุยกเว้นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด หรืออนุญาตตามความจำเป็นโดยอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาก็ได้ (2) เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็ว

(3) เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน

(4) เป็นบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือเป็นบุคคลหรือหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนบุคคลในครอบครัวของบุคคลดังกล่าวโดยติดต่อกระทรวงการต่างประเทศเพื่ออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามวรรคสอง

(5) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร และปฏิบัติตามวรรคสอง (6) เป็นผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีเช่นนี้ให้ติดต่อสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนักเพื่อออกหนังสือรับรอง หรือมีใบรับรองแพทย์ และปฏิบัติตามวรรคสอง โดยให้สถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสัญชาติไทยในการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร

บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันตาม (4) (5) หรือ (6) ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly Health Certificate) ซึ่งได้รับการตรวจรับรองหรือออกให้มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และเมื่อเข้ามาใน ราชอาณาจักรแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11 โดยอนุโลม

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจปฏิเสธไม่ให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ตรวจพบหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ยินยอมให้ตรวจ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้

ข้อ 4 การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หรือไม่ก็ตาม สำหรับกรณีที่เป็นสินค้าควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปริมาณการผลิต การควบคุมราคาจำหน่ายและการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและไม่เกิดภาวะขาดแคลนหรือเดือดร้อนเกินสมควร โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจและควบคุมดูแลผู้ประกอบการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดตามพ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด

ข้อ 6 การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นศูนย์กลางจัดให้มีการแถลงหรือชี้แจงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นประจำและต่อเนื่อง ในกรณีจำเป็นจะขอความร่วมมือจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วยก็ได้

ข้อ 7 มาตรการเตรียมรับสถานการณ์

(1) ให้ผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย

(2) ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งกำหนดและประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชนตามหน้าที่และอำนาจโดยพิจารณาใช้ งบประมาณของตนเองเป็นอันดับแรก ในกรณีไม่อาจดำเนินการได้ให้เสนอหรือขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล

(3) ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยในการหายใจและ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นให้เพียงพอตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือแนะนำ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์จากแหล่งต่างๆ และการเตรียมสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกตหรือเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น โดยขอความร่วมมือดัดแปลงสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้งานหรือสถานที่ราชการ สถานที่เอกชนอื่นๆ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว

(4) ในการกักกันตัวเองไว้สังเกตอาการตามคำสั่งหรือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้เดินทางข้ามเขตมาจากพื้นที่จังหวัดอื่นให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งขึ้น หรืออาสาสมัครที่ปฏิบัติงานให้แก่ทางราชการสามารถเข้าตรวจสอบการเฝ้าระวังหรือความเข้มงวดจริงจังในการกักกันตนเองและให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องได้ ในกรณีนี้อาจขอความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นให้ช่วยตรวจสอบด้วยก็ได้

ในกรณีตาม (3) ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบทางราชการ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันตามอำนาจที่มีอยู่

ข้อ 8 มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายดังต่อไปนี้ อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก

(1) ผู้สูงอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป (2) กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติของโรคและด้วยยาที่ใช้รักษา (3) กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปีลงมา

ทั้งนี้ เว้นแต่บุคคลดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อการพบแพทย์ การรักษาพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่แพทย์พยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ การปฏิบัติงานหรือการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์และสถาบันการเงิน ตู้เอทีเอ็ม การสื่อสารมวลชน โทรคมนาคมและไปรษณีย์ การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าเพื่อการบริโภค อุปโภค การจัดหาและซื้อขายอาหาร การติดต่อด้านคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการหรือศาลตามความจำเป็นหรือการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมาย เว้นแต่จะมีการประกาศผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเป็นประการอื่น ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11

ข้อ 9 มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศซึ่งมิได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร

บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรซึ่งประสงค์จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11 โดยอนุโลม

ข้อ 10 มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ในกรุงเทพฯ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค และหากพบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

ในจังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยให้มีมาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดเพื่อ จัดระเบียบการเดินทาง การจราจร การเฝ้าระวังหรือสังเกตอาการ ผู้เดินทาง และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามข้อนี้ ผู้รับผิดชอบตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง อาจขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. หรืออาสาสมัครเพื่อปฏิบัติการร่วมกันก็ได้ และหากพบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ดำเนินคดีความกฎหมายทันที

ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรค ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป หรือใช้ในกรณีผ่อนผันหรือยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ ดังนี้

(1) ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสขของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการจัดกิจกรรม และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน (2) ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

(3) ให้บุคคลตาม (2) ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค (4) ให้บุคคลตาม (2) เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย หนึ่งเมตรเพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัส หรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย (5) ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็นโดยถือหลักการหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

เจ้าหน้าที่อาจเพิ่มมาตรการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ และนำมาตรการคุมไว้สังเกตหรือมาตรการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อมาใช้แก่บุคคลบางประเภทหรือ บางคนได้ตามความจำเป็น

ข้อ 12 นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ รัฐบาลมีนโยบายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนซึ่งมิใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการและแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ โรงแรมในส่วนซึ่งเป็นที่พักอาศัยและร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้าในส่วนซึ่งเป็นแผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โรงงาน ธุรกิจ หลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ตลาดและตลาดนัด ในส่วนซึ่งจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น

สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติเพื่อความสะดวกและความเป็นอยู่ตามปกติของประชาชน มิให้ขาดแคลนหรือเดือดร้อนยากลำบากเกินควร โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11

สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ยังคงเปิดดำเนินการในวันและเวลาราชการตามปกติ เว้นแต่ที่มีประกาศให้ปิดหรืองดดำเนินการไปก่อนแล้ว เช่น สถาบันการศึกษา ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและมิให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์หรือละเมิดกฎหมายที่มีกำหนดเวลาให้ปฏิบัติ แต่ควรอำนวยความสะดวกแก่ ผู้ปฏิบัติงาน เช่น การจัดเหลื่อมเวลาทำงานและพักเที่ยง การทำงานนอกสถานที่ปกติ และให้เพิ่มบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น การจัดประชุมสื่อสารทางไกล การให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล การงดเว้นการกำหนดให้ประชาชนต้องมาแสดงตน หรือยกเว้น ขยายเวลา งดหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมภายใต้กรอบของกฎหมาย

ให้ภาคธุรกิจ ร้านค้าที่เปิดบริการและสถานที่ราชการที่เปิดทำการ วางมาตรการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อหรือใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11

ข้อ 13 คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ในช่วงเวลานี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้โดยไม่จำเป็นและควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวมารับการตรวจอาการหรือกักกันตัว

ข้อ 14 คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆ การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์หรือกิจกรรมภายในครอบครัว ตลอดจนกิจกรรมหรืองานพิธีที่ทางราชการจัดขึ้นหรือเป็นไปตามหมายกำหนดการของทางราชการ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดในข้อ 11

ข้อ 15 โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 แห่งข้อกำหนดนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หรือมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แล้วแต่กรณีด้วย

ข้อ 16 การใช้บังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความ ร้ายแรง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นด้วย

ในกรณีมีความจำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการหรือเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาได้โดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน