ก้าวไกล เห็นด้วย รัฐบาลแจกเงินแรงงานนอกระบบ 5 พัน แนะเปิดสภาอนุมัติงบสู้โควิดเพิ่ม

โควิด-19 – เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานรับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรายวัน พ่อค้าแม่ขาย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง สถานประกอบการบางแห่ง ทำให้คนในกลุ่มนี้ขาดรายได้ในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ของทั้งตนเอง และคนในครอบครัว ผสมโรงกับรายจ่าย และดอกเบี้ยจากหนี้ครัวเรือน ที่เดินหน้าเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน การเยียวยาประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล เห็นด้วยที่รัฐบาลออกมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในการเยียวยาแรงงานนอกระบบ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวนี้ ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเข้าไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธกส. โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 28 มี.ค. 2563 นี้ โดยหลักฐานที่ต้องใช้คือ บัตรประชาชน ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลนายจ้าง (ถ้ามี) โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ 5 วัน หากได้รับการอนุมัติ ก็จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกไว้กับบัตรประชาชน หรือบัญชีธนาคารที่ได้แจ้งเอาไว้ในระบบลงทะเบียน

เกาะติดข่าวโควิด กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account
เพิ่มเพื่อน

“ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ วงเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท นั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบได้อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุว่า หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งหมดในปัจจุบันที่มีอยู่ 38.4 ล้านคน มีแรงงานอกระบบอยู่ทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 ก็คือ แรงงานนอกระบบในภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน และเมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ทำประกันตนเองตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงแรงงานในระบบประกันสังคมในมาตรา 33 ที่ยังส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงาน) อีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ นั่นหมายความว่า จำนวนประชาชนทั้งหมด ที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการการเยียวยามีทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ วงเงิน 45,000 ล้านบาท ที่ใช้เยียวยาประชาชนจำนวน 3 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าสามารถเยียวยาประชาชนได้เพียง 20.7% เท่านั้น และยังเหลือประชาชนอีก 11.5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกล ขออนุญาตเสนอแนะเชิงสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มเติมใน 3 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลควรพิจารณาออกพระราชกำหนดโอนงบประมาณ จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้พิจารณาจากทุกๆ รายการที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เพื่อตัดงบประมาณจากโครงการเหล่านั้นออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความมั่นคงที่มีความสำคัญสูงสุด ก็คือ ความมั่นคงในระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาชีวิตของประชาชน และความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของประชาชนให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้ผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตินี้ไปได้

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า 2.ต่อให้โอนงบประมาณมาได้ 80,000 ล้านบาท ก็คิดว่ายังไม่น่าจะเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพราะว่าการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะใช้ในภารกิจด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว รัฐบาลยังตั้งจัดสรรงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่วิกฤตการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วอีกด้วย พรรคก้าวไกล จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาออกพระราชกำหนดเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ และจัดสรรเงินเยียวยาให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า และเป็นธรรม และยังมีเงินเหลือไว้สำหรับการฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา

โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า 3.หลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. เงินกู้ 200,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พรรคก้าวไกล ขอเสนอให้รัฐบาลเสนอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อจัดสรรงบประมาณในการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นผล ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการในการเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาทางตรงกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับการการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ พรรคก้าวไกล ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อหารือในการจัดสรรผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีองค์ประชุมเพียงพอที่จะดำเนินการประชุมได้ โดยที่ไม่หนาแน่นเกินไป จนมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในระหว่างการประชุม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน