เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเซ็ตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า หลังจากที่ได้มีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลต่างๆนานา สนช.ได้ลงมติให้กกต.ต้องเซ็ตซีไร่ไปแล้วนั้น สิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องหลังจากนี้ก็คือ การเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องเรื่องนี้คือ กรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากการสรรหาและการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 บ้าง รัฐธรรมนูญชั่วคราวบ้าง หรือตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บ้างก็มี จึงต้องถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างนี้มาจากระบบกติกาอย่างอื่นที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า องค์กรอิสระหลายองค์กรมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน และการเข้าสู่อำนาจหรือการคงอยู่ในอำนาจ หากกรรมการในองค์กรเหล่านี้ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งที่อาศัยอำนาจคสช.หรือรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อาจแน่ใจได้ว่าองค์กรเหล่านี้จะตรวจสอบคสช.และรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และจะแน่ใจได้อย่างไรองค์กรเหล่านี้จะไม่เอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจของคสช.ซึ่งการมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือการวางระบบกติกาใหม่ เมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาและการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ควรจัดให้มีการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการขององค์กรเหล่านี้เสียใหม่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การบอกว่ากรรมการองค์กรอิสระใดอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ให้ดูว่าใครขาดคุณสมบัติ ดูการทำงานหรือดูความจำเป็นเหมาะสมนั้น เท่ากับเป็นการจงใจให้เกิดการใช้ดุลพินิจของผู้อำนาจทั้งหลายที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือการต่อรองของผู้มีอำนาจเอง องค์กรเหล่านี้ก็จะเสียความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นกลาง และไม่เป็นอิสระ นอกจากนี้หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในอนาคต ก็จะเกิดความไม่ชัดเจนว่าปัญหาเหล่านั้นมาจากระบบใด คือจากรัฐธรรมนูญปี 50 รัฐธรรมนูญชั่วคราว คำสั่งคสช.หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันแน่

“นอกจากองค์กรอิสระทั้งหลายแล้ว องค์กรที่ควรเซ็ตซีโร่อย่างมากอีกองค์กรหนึ่งแต่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนักคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกับองค์กรอิสระ หรือไม่ก็ต้องใช้มาตรฐานสูงกว่าองค์กรอิสระด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 50 และปกติต้องมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ องค์กรใดหรือบุคคลใดทำอะไรขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่ต่อไป ก็ต้องวินิจฉัยการรัฐประหารไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไม่ได้วินิจฉัยการรัฐประหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สูญเสียสถานะความเป็นศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำหน้าที่มาตั้งแต่มีการรัฐประหารแล้ว และยิ่งมีรัฐธรรมนูญใหม่ ยิ่งต้องสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ให้เรื่องต่างๆเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรให้คณะบุคคลที่ล้มเหลวในการรักษาความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่ามีเหตุผลอะไร ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการเซ็ตซีโร่ กกต.นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าดูจากเหตุผลที่ใช้กันอยู่ ดูจากสภาพทางการเมืองก็อาจจะเป็นไปได้ว่า มีการกลัวว่ากกต.ชุดนี้จะไม่เออออห่อหมกกับผู้มีอำนาจ แต่อันนี้เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของการชอบหรือไม่ชอบ ถ้าตัดตรงนี้ออกไปคือต้องเซ็ตซีโร่เสียทุกองค์กร ไม่ต้องดูว่าผู้มีอำนาจพอหรือไม่พอใจการทำงานขององค์กรใด ให้เป็นเรื่องของเมื่อมีระบบใหม่ก็ควรได้องค์กรตามระบบใหม่นั้นๆแม้ว่าระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่ได้ทำองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แต่เมื่อมีระบบใหม่แล้วก็ควรให้ระบบใหม่ทำงาน และถ้าไม่ดีคนจะได้รู้ว่าระบบใหม่มีปัญหาอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน