เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 มิ.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่องการเมืองไทยกับสังคม 4.0 ในงามสัมมนา Direk’s Talk ที่จัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีใจความว่า

คณาจารย์ เพื่อนนักวิชาการ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย วันนี้ผมรู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดคุยกับทุกท่าน หลายปีที่ผ่านมา ผมใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัด ไม่ค่อยได้พบปะผู้คน แต่นั่นมิได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงวงการที่คุ้นเคย และยิ่งมิได้หมายความว่าผมจะไม่คิดถึงคณะและมหาวิทยาลัยที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ถึง 30 ปี

พบกันครั้งนี้ ผมขอคาราวะท่านด้วยแง่คิดบางประการที่มีต่อบ้านเมืองของเรา อย่างไรก็ดี คงต้องขอยืนยันไว้ตั้งแต่ต้นว่าหัวข้อสนทนาของผมเป็นหัวข้อวิชาการ วิธีวิเคราะห์ก็เป็นแบบวิชาการ ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ดังนั้นผมจึงหวังว่าจะไม่มีผู้ใดตีความไปในทางอื่น และไม่มีผู้ใดมาทำให้วัยชราของผมเงียบสงัดไปกว่านี้อีก แต่ก็อีกนั่นแหละ ในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ และมาพูดในที่ประชุมของคณะรัฐศาสตร์ ผมคงพูดเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากเรื่องการเมือง

อย่างไรก็ตาม ความหมายของการเมืองที่ผมจะใช้ในวันนี้ เป็นความหมายในระดับกว้างสุด ดังนั้นจึงกินความรวมทั้งนักการเมืองในระบบ และนักการเมืองนอกระบบ ทั้งพวกที่แสวงหาชัยชนะในการเลือกตั้ง และพวกที่แสวงหาอำนาจโดยผ่านการแต่งตั้ง

ที่ผมต้องกล่าวเช่นนี้เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มักมีการพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยไว้ที่นักการเมือง และพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจผิดว่ามีแต่นักการเมืองฝ่ายเดียวที่เล่นการเมือง ฝ่ายอื่นๆ ไม่ได้เล่นการเมือง

คำพูดแบบรวบรัดดังกล่าวเมื่อนำมาบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดี ก็จะกลายเป็นข้อสรุปที่ว่า นักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี

แน่นอนว่าวาทกรรมเช่นนี้ไม่เพียงขัดต่อหลักวิชาการของพวกเราเท่านั้น หากยังขัดกับธรรมชาติของความจริง เพราะที่ไหนมีอำนาจที่นั่นก็มีการเมือง และมีคนเล่นการเมือง อันนี้เป็นที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยสามก๊กแล้ว ทั้งๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มึระบบเลือกตั้ง และจะว่าไป คนที่มาข้องเกี่ยวกับการแข่งขันชิงอำนาจ หรือการใช้อำนาจ ก็มีดีมีชั่วปนๆ กันไป

ถามว่าทำไมผมเอาเรื่องนี้มาพูด คำตอบคือเพราะมันเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองของเราในระยะ 3-4 ปีมานี้ นับตั้งแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลือง ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร 22 พ.ค.57 มาจนถึงการร่างและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเรียกเองว่าเป็นฉบับต้านโกง

ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการเอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น แน่นอน หากผมพูดเพียงแค่นั้นมันก็ง่ายไป ถ้าจะพูดให้ยากขึ้นคงต้องบอกว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นโดยการชูธงความดีเท่านั้น หากการชูธงดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่าใครขัดแย้งกับใคร และเพราะอะไร

หากเราถอดนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมแล้วก็จะพบว่า พวกที่ถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดอยู่กับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่ถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมือง กับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นจึงมีการส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐ ให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ กับชนช้ำนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนและขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

ถ้าเราวางคอนเซ็ปต์ไว้เช่นนี้ ก็จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่เกินเรื่องราวของบุคคล และคณะบุคคล มันเป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบต่อระบอบ แน่นอน ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำสีเหลืองสีแดง ในขณะที่ตัวละครเอกจริงๆ ถูกจัดไว้นอกสมการ

การเป็นคู่กรณีของชนช้ำนำภาครัฐนั้นสังเกตได้จากการที่นับวันอคติของพวกเรายิ่งขยายจากความรังเกียจนักการเมืองจากบางตระกูล ไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม นี่เป็นความรังเกียจที่มีต่อคู่ชิงอำนาจซึ่งเคยแสดงออกมาแล้วในปี 2534 และปี 2549

นอกจากนี้เรายังสังเกตได้ด้วยว่าหลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน

การทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าว ไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 อันเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังสะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร

อีกทั้งจำกัดพื้นที่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ให้อยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจนำอีกต่อไป ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหา แต่เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในประเด็นรัฐธรรมนูญนั้น เราสามารถมองเห็นเจตจำนงของผู้ร่างได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประการแรก ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมโอกาสของพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก ระบบดังกล่าวจะทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาขจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ

พูดให้ชัดเจนก็คือ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบบเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต โดยประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งแต่ใบเดียว จากนั้นเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรคจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณหาจำนวนรวมของผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรมี และจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ พรรคไหนชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตเต็มโควต้าแล้วก็จะไม่มีสิทธิมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

ผลทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ย่อมทำให้การเสนอนโยบายในระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง เพราะถ้าเราดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในระบบเลือกดั้งเดิม จะพบว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้น ผู้ลงคะแนนมักจะเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรค ส่วนการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ มักเป็นการเลือกพรรคที่มีนโยบายโดนใจ

ประการต่อมา ในขณะที่อำนาจของนักการเมือง และพรรคการเมืองถูกจำกัดลงทั้งโดยตรงโดยอ้อม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูง เป็นทั้งกรรมการสรรหา และเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ และที่น่าสนใจคือในกระบวนการดังกล่าว บทบาทและอำนาจของฝ่ายตุลาการได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้น และแผ่ขยายออกไปมาก

ประเด็นสำคัญที่สุด ดังที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อย และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการรับรองหรือไม่รับรองผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้เมื่อบวกรวมกับบทบัญญัติที่ให้นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ก็ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน

ประการสุดท้าย ถ้าเราดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะพบว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฎิรูปประเทศ กับพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งครม.ส่งร่างเข้าสภาแล้ว ต้องออกมาใน 4 เดือน หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อันนี้หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มไม่ได้เลย และอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช.เสียเอง

ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้นเมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าการกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไปต่ำกว่า 9-10 ปี

แน่ละ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อย การสืบทอดอำนาจอาจจะไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้ว การต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำในปริมณฑล ทางการเมือง เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ ทำไมชนชั้นนำภาครัฐ และพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตนเองออกมาได้ขนาดนี้ เรื่องนี้ถ้าเราพักเรื่องผิดถูกดีชั่วเอาไว้ก่อน ก็อาจวิจารณ์ได้ในหลายทาง ในทัศนะส่วนตัวของผม คิดว่าเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคาม ทั้งโดยกลุ่มนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชน และโดยระบอบประชาธิปไตยที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบายมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นแค่ผู้จัดการตลาด ซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีต และทุบทำลายค่านิยมที่ฝ่ายอนุรักษ์ยึดถือ

ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำ ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกให้เป็นไปตามแนวทางที่ตนเองยังคงมีบทบาทและมีที่อยู่ที่ครบถ้วน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป

ด้วยเหตุดังนี้ วาทกรรมเรื่องความดี จึงผูกติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และด้วยเหตุดังนี้ จึงมีการกำหนดทิศทางของประเทศโดยผ่านยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความวิตกกังวลดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เราคงต้องยอมรับว่าการยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้ มีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย รัฐประหารปี 2557 ได้รับการเรียกร้องและนำร่องด้วยการเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งขยายตัวเป็นยุทธการที่โจมตีทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และล้มกระดานประชาธิปไตยในคราเดียวกัน

แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งคณะรัฐประหาร และขบวนที่นำร่องรัฐประหารต่างก็ยืนยันว่าต้องการสร้างประชาธิปไตยฉบับที่ดีกว่า แต่โดยไม่เป็นทางการ ถ้าเราติดตามข่าวสารทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย ก็จะพบว่าปัจจุบัน มีผู้คนสนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น และเท่าที่มีการแสดงออก บรรดากลุ่มทุนใหญ่กับบรรดาคนชั้นกลางในเมือง ดูจะรู้สึกมั่นคงสบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้จะเป็นผู้ได้เปรียบในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ก็อดรู้สึกถูกคุกคามไม่ได้ เมื่อฐานะได้เปรียบของพวกเขาถูกท้าทายโดยระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนชั้นล่างๆ เป็นฐานเสียง
ดังนั้นพวกเขาจึงขานรับเรื่องคนดี และความเป็นไทยด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทำให้เสียงยืนยันที่ว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ และไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่ง ดังกระหึ่มขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ชนที่มีการศึกษาสูง กระทั่งเรียนหนังสือกับฝรั่งมาคนละหลายๆ ปี

ปรากฎการณ์ดังกล่าว นับว่าพลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่าๆ ที่ว่าคนชั้นกลางที่ว่าคนชั้นกลางเป็นฐานทางสังคมของระบอบประชาธิปไตยไปเลย ดังนั้นไม่ว่าใครจะรู้สึกอึดอัดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แค่ไหนก็ตาม ผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 ก็ยังปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับการยอมรับโดยเสียงข้างมาก โดยมีคนเห็นชอบประมาณ 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบราว 10.5 ล้านเสียง

แน่ละโดยหลักการแล้วก็คงต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้โดยผ่านความเห็นชอบของประชาชน แต่ในโลกของความเป็นจริง คน 10 ล้านคนที่ไม่เห็นชอบ ก็ไม่ใช่คนหยิบมือเดียวที่จะมองข้ามได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในช่วงรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยดูจะมีพื้นที่น้อยมากในการนำเสนอทัศนะของตน

และยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ถอยไปต้นปี 2557 ประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกากวิกฤตที่ดีกว่ารัฐประหาร ก็มีจำนวนมากถึงราว 20 ล้านคน ทั้งๆ ที่มีความพยายามที่จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนั้นในหลายๆแห่ง ดังนั้น ถ้าพิจารณากันตามเนื้อผ้า การที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สอบผ่านประชามติก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลแอบคิดต่างอยู่เงียบๆ

ด้วยเหตุดังนี้ การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับสภาพดุลกำลังทางสังคมที่เป็นอยู่โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ต้น

เช่นนี้แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำเกินดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ โดยบัญญัติให้เสียงขอประชาชนีผลน้อยที่สุดต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบาย

ในความเห็นส่วนตัวของผม คำตอบน่าจะอยู่ในนโยบาย 2 ประการ หนึ่งคือการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอง นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ด้วยกลไกประชารัฐ

แม้ว่าโดยภายนอกแล้วนโยบายทั้งสองอย่างดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี่เป็น มาสเตอร์แพลน ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน

กล่าวสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น รัฐบาลชุดนี้ยังคงยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งดำเนินไปภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้แรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและทุนในประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน infrastructures ซึ่งคิดเป็นงบประมาณถึง 2.0 ล้านล้านบาท มีการขยายระบบโลจิสติกส์ในระดับอภิมหาโครงการหลายอย่าง ตั้งแต่เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบรางไปจนถึงการสร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ถอด 19 ธุรกิจออกจากบัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ โดยเสรี ซึ่งในบรรดาธุรกิจทั้ง 19 ประเภท มีธุรกิจการนำอสังหาริมมทรัพย์ออกให้เช่า และธุรกิจบริการที่มีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญาด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ การอาศัยระบบทุนนิยมที่ไร้ชาติมาสนองผลประโยชน์แห่งชาตินั้นนับเป็นเรื่องที่มีปัญหาย้อนแย้งกันอยู่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้แต่มีมาพักใหญ่แล้ว จริงอยู่ การลงทุนจากต่างชาติอาจจะช่วยทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ กระทั่งอาจสวนทางกันในหลายๆ กรณี

การที่รัฐไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้กับบรรดาผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้เช่าที่ดินใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่ได้ในระยะยาว และลดเงื่อนไขอีกหลายๆ อย่างให้นักลงทุนพอใจย่อมหมายถึงว่าผลประโยชน์สูงสุดจะต้องตกเป็นของฝ่ายทุนอย่างแน่นอน

ใช่หรือไม่ว่า สภาพดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำหรือการปรับโครงสร้างรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น พูดกันแบบตรงไปตรงมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นสั่งสมตัวมาหลายทศวรรษแล้ว ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว

เดี๋ยวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าคนรวย 10% แรกของประชารไทยมีรายได้สูงกว่าคนจนสุด 10% ล่างถึง 35 เท่า และคนรวย 10% นี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินของประเทศถึง 79%

ล่าสุดจากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บส์ ปรากฏว่ามีเศรษฐีไทยติดอันดับ 500 บุคคลที่รวยที่สูดในโลกถึง 4 คน บางคนถึงขั้นอยู่ในอันดับ 100 คนแรก โดยมีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนประเทศไทยนั้นถูกจัดเป็นประเทศเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย

ทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีคือที่ดิน ดังเราเห็นได้ว่าขณะที่เกษตรกร 40% ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และขณะที่คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย นักธุรกิจบางตระกูลกลับถือครองที่ดินไว้ถึง 6 แสน 3 หมื่นไร่

โฉนดที่ดิน 61% ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10% ที่รวยที่สุด

แน่นอน ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษาและทางเลือกในการประกอบอาชีพ ตลอดจนโอกาสในการปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ สภาพดังกล่าวทำให้การเปลี่ยนฐานะทางชนชั้นของผู้เสียเปรียบทางเป็นไปได้ยก ซึ่งก็ส่งผลทำให้โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยมีลักษณะ rigid แข็งตัวและสร้างรอยแยกถาวรให้กับสังคม

ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วนั้นนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงของทุกชนชั้น ด้วยเหตุดังนี้ทุกฝ่านจึงเรียกหาอำนาจทางการเมืองมาดูแลตนหรือใช้มันเปลี่ยนเกมที่ตนกำลังเสียเปรียบ ซึ่งอาจจะเป็นอำนาจเผด็จการก็ได้อย่างในกรณีคนชั้นสูงและคนชั้นกลางส่วนบน หรืออาจจะเป็นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้

อย่างในกรณีเกษตรกรรายย่อยในชนบท จริงอยู่ การใช้อำนาจการเมืองมาคุ้มครองผลประโยชน์ทางชนชั้นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของมนุษยชาติ แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ความปั่นป่วนผันผวนในเรื่องนี้ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งในสังคมไทย ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ตลอดจนที่อื่นๆ

กลับเรื่องประเทศไทย 4.0 มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนี้ แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีจุดหมายที่ดี ในการมุ่งพาประเทศไทยให้ก้าวให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้โดยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แล้วหันมาโฟกัสที่การค้าและการบริการ (Trades & Services) อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเปลี่ยนกระบวนการผลิต

การทำงานมาสู่ระบบดิจิทัล และอาศัยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของการสร้างรายได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ คำถามยังคงมีอยู่ว่าคนไทยพร้อมแค่ไหนในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ 4.0

ในเรื่องนี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังคงเข้ามาเป็นอุปสรรคอย่างเลี่ยงไม่พ้น ถ้าเราดูตัวเลขจากผู้ที่มีงานทำ 37.4 ล้านคน แรงงานในระบบอายุ 40 ปีขึ้นไปมีถึง 46% และสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม ในจำนวนนี้มี 1.2 ล้านคน ที่ไม่มีการศึกษา ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและการศึกษาน้อย การปรับตัว ยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่อำนาจต่อรองของคนงานจะลดลงมาก เพราะการผลิต การค้า และงานบริการนับวันจะใช้แรงงานคนน้อยลง โดยมีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ คนงานที่จะปรับทักษะให้สอดคล้องกับหุ่นยนต์และนวัตกรรมใหม่ๆได้ก็คงมีจำนวนน้อย จำนวนคนที่ตกงานน่าจะมีมากขึ้น กลายเป็นสินค้าล้นตลาดที่ราคาตกต่ำลง

ล่าสุด อีคอนไทย หรือสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้ประเมินว่าน่าจะมีอย่างน้อย 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงานเพราะเทคโนโลยี 4.0

อาชีพดังกล่าวได้แก่ 1)พนักงงานขายปลีกหน้าร้าน ในห้าง และพนักงานขายตรง 2)พนักงานโรงแรม 3)พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน 4)แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 5)แรงงานในภาคโลจิสติกส์ 6)บุรุษพยาบาลดูแลคนสูงวัยหรือผู้ป่วย 7)คนขับรถยนต์และรถบรรทุก และ 8)คนทำงานเคาน์เตอร์เซอร์วิสในภาคธุรกิจต่างๆ ในบรรดากลุ่มเสี่ยง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นนับว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวถือครองสัดส่วน 80 เปอร์เซนต์ของมูลค่าการส่งออก

แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ซึ่งในสัดส่วน 80% นี้ มี 25% ที่เปราะบางมากเพราะการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ในทางตรงกันข้ามฝ่ายผู้ประกอบการดูเหมือนจะมีความพร้อมมากกว่าในการเข้าสู่ยุค 4.0 ดังจะเห็นจากการที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจ 4.0 แล้ว

นโยบายของหอการค้าเองก็พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกประมาณ 1 แสนราย ทั่วประเทศเข้าสู่ธุรกิจการค้าและบริการในระดับ 4.0 โดยตั้งเป้าไว้ในแผนงานปี 2560-2561 ว่ายกระดับผู้ประกอบการในหอการค้าจำนวน 5 หมื่นรายให้มีศักยภาพสูงขึ้นและสร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 30% หรือราวๆ 2-3 หมื่นบาท

ปัจจุบันจีดีพีจากภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วน 52 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยก็ดี ความสับสนอลหม่าน เรื่องแรงงานในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี ล้วนแแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายความว่าการลดช่องว่างระหว่างรายได้ยังคงป็นแค่ความฝันระยะไกล

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมคิดว่าทางผู้บริหารชุดปัจจุบันก็คงรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐราชการจึง ต้องหันมาใช้ระบบสวัสดิการอ่อน และระบบสังคมสงเคราะห์ เพื่อลดทอนแรงกดดันจากขั้นล่างสุด ในการนี้ รัฐบาลปัจจุบันได้เตรียมงบประมาณไว้ถึง 8 หมื่นล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียนไว้ นอกจากนี้ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0 แต่อย่างเดียว หากยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า กลไกประชารัฐ ขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่อีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จุดที่น่าสนใจที่สุดของนโยบายหรือกลไกประชารัฐก็คือ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเบโตของจีดีพีเท่านั้น หากยังมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมๆ กัน ตามนโยบาลประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำประสานความร่วมมือธุรกิจใหญ่กับธุรกิจรายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งนี้โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อนด้วย

ด้วยเหตุดังนี้นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จอาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

พูดอีกแบบหนึ่งมันก็ความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้น ที่หลายท่านเกลียดและกลัวมาเป็นความร่วมมือทางชนชั้นภายใต้การนำของรัฐราชการ ดังนั้นกลไกประชารัฐจึงมีกลิ่นอายของ “ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ” อยู่พอสมควร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงลัทธิ Corporatism กับนิยามเรื่องรัฐของ Hegel

สิ่งที่เราไม่รู้คือ นโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรกด้วยการทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือในทางนโยบายแล้วมันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง

ดังจะเห็นได้จากคำพูดของผู้นำเครือข่ายประชาสังคมท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า “ประชานิยมคือการเอาเงินของรัฐไปแจกชาวบ้าน นักการเมืองเอาบุญคุณ ขาวบ้านอ่อนแอเรื่อยไป ไม่หายจน ประชารัฐคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้าให้พ้นความยากจน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ สามารถควบคุมนักการเมือง ทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

แน่นอน เมื่อตัดเรื่องเจตนาออกไปแล้ว คำถามก็ยังคงมีอยู่ว่าการหวังให้ทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการบกระดับฐานะของธุรกิจเอสเอ็มอีและชนชั้นล่างๆ จะไม่สวนทางกับธรรมชาติขอระบบทุนนิยมหรอกหรือ มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปแบบฟันธงในเรื่องนี้ออกมา

แต่ที่น่าสนใจมากก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใด แต่เน้นว่าต้องเป็นระบบที่ปนะชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ยืนยันว่าประเทศไทยจะต้องยึดถือในระบบเศรษฐกิจเสรีและอาศัยกลไกทางตลาดเท่านั้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวอาจจะทำให้รัฐบาลเข้าไปไกล่เกลี่ย ผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยได้ง่ายขึ้น และบางทีอาจจะมีผลประโยชน์นอกกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าเที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิมๆ ไปวันๆ ตรงกันข้าม พวกเขามาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่าเข้มข้น เป็นระบบ ถึงขั้นมี master plan ในการสถาปนาอำนาจนำของตยให้มั่นคงยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์

พูดอีกแบบหนึ่ง คือ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในเมืองไทยไม่ได้สะท้อนแค่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่ากับเครืองข่ายการเมืองของนายทุนบางกลุ่มเท่านั้น หากยังสะท้อนความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐที่สร้างสังคมตามแนวคิดอนุรักษนิยมคู่ขนานไปกับการเกี่ยวร้อยกับทุนนิยมโลก มันเป็นความพยายามที่จะดำรงฐานะนำของรัฐราชการในการบริหารระบบทุนไร้พรมแดน

แต่ประเด็นมี อยู่ว่าอุดมการณ์และวาทกรรมของรัฐชาติเป็นแบบรัฐราชการนั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็ไปกันไม่ได้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนทุนไร้ชาติไร้พรแดร หรือแม้แต่ content ของเศรษฐกิจ 4.0 ด้วยเหตุดังนี้ สภาพขัดกันเองระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่แลไปข้างหน้ากับนโยบายทางการเมืองและสังคมที่แลไปข้างหลังของรัฐไทยจึงปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เช่น ความขัดแย้งระหว่างการศึกษาแบบท่องจำศิโรราบกับ เศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม เป็นต้น

ดังที่ศาสตราจารย์ โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ผู้โด่งดังได้ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อไม่นานมานี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นถือปัจเจกชนเป็นตัวตั้ง และใช้กลไกตลาดกร่อนสลายสังคม ชุมชน ชาติ หรือองค์รวมใดๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากกว่า ในขณะที่รัฐราชการของไทยสวนทางลัทธิ neoliberal ซึ่งมีทั้งแนวคิดและการกระทำที่เป็นปรปักษ์กับ concept ผลประโยชน์แห่งชาติ รัฐนี้จะยังคงใช้วาทกรรมรัฐชาติกึ่งจารีต ขับเคลื่อนสังคมไทยให้หมุนตามศูนย์อำนาจได้แค่ไหน

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว สิ่งที่คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตลอจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งถ้าพวกเขาไม่ห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ top down ก็คงต้องมีข้อเสนอแตกต่างในระดับที่ grand พอๆกัน ไม่ใช่พูดแค่หลักการลอยๆ

เรียนตรงๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไม่ได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการจะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจ และเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว

แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งล้วนเติบโตมาจากช่วงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ดังนั้นจึงคุ้นเคยกับการร่วมมือแบบชนชั้นนำภาครัฐในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกฯคนนอก

ดังนั้น ฉากหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะพวกเขามาในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตน ต้องเล่นบทพระรองก็ตาม

การดูถูกหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผลมาตลอดช่วงหลังรัฐประหาร ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นวาทกรรมหรือฐานคิดที่ใช้ลดฐานะนำของสถาบันประชาธิปไตยอย่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลี่มาจากการเลือกตั้ง สามปีที่ผ่านมาคณะรัฐประหารและมวลชนี่สนับสนุนมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอรัปชั่นพุ่งเป้าไล่นักการเมือง

ซึ่งตอนแรกก็อาจจะหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น แต่ต่อมากลับออกไปทางเหมารวมนักการเมืองทั้งหมด ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วข้าราชการ กับพ่อค้า นักธุรกิจต่างหากที่เป็นต้นแบบของระบบทุจริตในประเทศไทย และการคอรัปชั่นก็ไม่ได้หายไปไหนในช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยม

จากการประกาศค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชั่น โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เมื่อต้นปี 2560 ประเทศไทยถูกระบุว่าได้คะแนเพียง 35 จาก 100 ซึ่งทำให้อยู่ในอันดับที่ 101 จาก176 ประเทศ

คะแนนดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่43 คะแนน ก่อนหน้านี้ในปี2557ประเทศไทยเคยได้คะแนน38 และอยู่ในอันดับที่ 85 ส่วนปี 2558 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 76 แต่คะแนนยังคงอยู่ที่ 38 เหมือนเดิม

สาเหตุหนึ่งที่ทำคะแนนลดลงในการประเมินครั้งล่าสุด ก็เพราะมีการนำข้อมูลความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาประกอบพิจารณาด้วย อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องคอรัปชั่นนี้ยังคงเป็นประเด็นการเมืองที่มีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย ดังเราจะเห็นได้จากคำถาม 4 ข้อเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งฝ่ายรัฐตั้งขึ้นและรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันตอบ

ใช่หรือไม่ว่าคำถามเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือการปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยผู้กุมอำนาจปัจจุบันช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แต่อย่าเข้าใจผิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นแค่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ

หากป็นการต่อสู้ในระดับชิงระบอบของ State Elites ที่ต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตนและลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง ซึ่งถ้าเรามองในระดับนี้ก็จะพบว่าฝ่ายชนชั้นนำเก่ามีสำนึกและมียุทธศาสตร์ในการต่อสู้มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองซึ่งมักมุ่งหวังชัยชนะในระดับที่แคบกว่ากันมาก แค่ชัยชนะของบุคคลหรือพรรคของตนเท่านั้น

อันที่จริงประเด็นธรรมาภิบาลตามความหมายสากลไม่ได้เป็นเรื่องศีลธรรมจริยธรรมหรือเรื่องคนดีคนเลวแบบฉาบฉวย หากเป็นกระบวนการบริหารจัดการที่นำไปสู่ประสิทธิภาพที่สะอาดปราศจากข้อกังขา กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม และหลักฉันทามติ เป็นสำคัญ

ดังนั้นถ้ากล่าวในเชิง concept ล้วนๆ ระบอบประชาธิปไตยย่อมสร้างรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลได้ง่ายกว่าระบอบอำนาจนิยมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่ทราบเป็นเพราะมีแผลกันอยู่บ้าง หรือมีเหตุผลใด บรรดานักการเมืองจึงไม่ได้ออกมาโต้แย้งเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะมีท้วงติงบ้างก็แค่เป็นรายบุคคล

ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น และตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบคำท้าทายใหญ่ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

ดังนั้นการมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง คือททางแรกนักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบลประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียกว่าระบอบ “เกี้ยเซี้ย” หรือ “เกี้ยซิบาธิปไตย”

ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านี่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือขอโต้แย้งเชิงนโยบายี่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศของเรา

กล่าวสำหรับภาคประชาชนโดยทั่วไป ฐานะของพวกเราจะเป็นเช่นใดภายใต้เงื่อนไขไทยแลนด์4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน? อันดับแรก ถ้าพูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาคงจะมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของวุฒิสภาที่มาจจากการแต่งตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคเดียว และเมือเป็นเช่นนั้นทางเลือกในระดับนโยบาลของผู้ลงคะแนนเลือกตั้งก็ดูจะหายไปด้วย

จะว่าไปแม้แต่ในเรื่องนี้ ชนชั้นนำภาครัฐและนวลชนห้อมล้อมก็ได้ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้ถึงสองทาง คือด้านหนึ่งลดทอนเครดิตของการเมืองแบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็คล้ายว่าจะหันเหความสนใจของประชาชนจากประเด็นที่เสียงของพวกเขามีน้ำหนักน้อยลง

กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาคือเสียงของประชาชนเคยมีน้ำหนักมาก ในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนโยบายที่พวกเขาพอใจ คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอดระยะเวลาสามปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าพวกเขาคิดอย่างไร และจะแสดงออกทางการเมืองแบบไหน เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทุกท่านคงนึกออกว่าในอดีต ชาวนาไทยเคยเจอสภาพที่ถูกทอดทิ้งจมปลักอยู่กับความเสียเปรียบ และไม่ถูกนับในทางการเมืองอยู่เป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่ง เข้ามาเสนอแนวทางประชานิยมหนุนช่วยพวกเขาในเรื่องหน้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงหันมาสนับสนุนพรรคนี้อย่างท้วมท้น และกลายป็นพวกที่ตื่นตัวทางการเมืองแบบฉับพลัน ก็น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางประชานิยมถูกปิดกั้น ชะตากกรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นใด

ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงประเด็นการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันคนชั้นนี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงมาเป็นภาคี ดังนั้นจึงน่าสนใจมากกว่าจากนี้ไป กลไกของฝ่ายอนุรักษ์จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงหรือไม่ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่

อันดับต่อมา พ้อจากการเมืองภาคตัวแทนและการเลือกตั้งแล้ว การเมืองภาคประชาชนเล่าจะมีสภาพเป็นเช่นใดในภายใต้กฎกติกาการเมืองชุดล่าสุด พื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีเหลือหรือมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน?

เรื่องนี้ถ้าพูดกันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว เราอาจจะมองโลกในแง่ดีได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังคงยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ไว้โดยละเอียด ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 อีกทั้งยังมีมาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรากฎมายแต่ละฉบับ และมาตร 133 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเพื่อเสนอร่างกฎหมายี่เกี่ยวข้อกับสิทธิเสรีภาพได้

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม หรือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขในด้านความมั่นคงความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความแบบครอบจักรวาล

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายเล็กกฎหมายน้อยกำหนดไว้ กฎหมายในเมืองไทยมีถึงกว่า1แสนฉบับ ก็ไม่ทรายเหือนันว่ามีกี่ฉบับที่ลดทอนสิทธิเสรีภาพขอประชาชน

นอกจากนี้แล้ว สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งกันในระดับประสานงากับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจสังคมในประเทศไทย ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำคึอ เหลื่อมล้ำ และ อยุติธรรม

ดังนั้นลำพังมีกฎหมายคุ้มครองก็ไม่ได้หายความว่าช่องว่างตรงนี้จะหดแคบลงโดยพลัน เรามีตัวอย่างมากมายที่สิทธิชุมชนถูกละเมิดโดยทุนใหญ่หรือไม่ก็โครงการของรัฐเอง อีกทั้งตัวบุคคลที่เป็นผู้นำชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ก็สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นมักจะเป็นเรื่องปากท้องและฐานทรัพยากรของชุมชน เราก็คงมองเห็นว่านโยบายสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ อย่างเช่นในกรณีท่าเรือนำลึกที่ปากบารา ปัญหาที่ดินทำกินที่แม่สอด และกรณีโรไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ เป็นต้น

แม้ว่านโยบายประชารัฐ โดยกองทุนหมู่บ้าน จะมีโครงการเปิดร้านค้าชุมชนถึง 2 แห่ง และตลาดประชารัฐอีกราว 1,300 แห่ง แต่ถ้าท้องถิ่นยังคงเต็มปด้วยปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาที่ดินถูกรุกล้ำฐานทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในแนวนี้ก็คงไม่ราบรื่นเท่าใด

แน่นอน ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ภาคประชาชนเองก็อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเหมือนกัน ในระยะหลังๆ พวกเขาได้ใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่าๆ มาสนับสนุนการต่อสู้ของตน ตั้งแต่การปกป้องลำน้ำในหมู่บ้านเล็กๆ ไปจนถึงารคัดค้านโครงการใหญ่ของฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้ “การเมืองข้างถนน” กลายเป็นการเมืองคีย์บอร์ดมากขึ้นเรื่อยๆ

บางทีอาจจะเพราะเหตุนี้บวกกับสภาพการชุมนุมล้นเกินก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ตลอดจนความรู้สึก insecure อ่อนไหวในเรื่องอุดมการณ์ของรัฐ ชนชั้นนำที่กุมอำนาจจึงต้องการจำกัดขอบเขตของประชาธิปไตยโดยทางตรงไปพร้อมๆ กันกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน

กล่าวคือนอกจากกลไกควบคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีกลไกอีกหลายอย่างที่รัฐราชการใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงร่างพรบ.ความมั่นคงไซเบอร์ กับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ฝ่ายรัฐกำลังผลักดันอยู่

อันนี้ไม่ทราบว่าตรงกับที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าเป็นสภาวะ Deep State หรือ “รัฐพันลึก” ได้หรือไม่ กล่าวคือจะมีเลือกตั้งหรือมีรูปแบบภายนอกที่เป็นประชาธิปไตย แต่เบื้องลึกแล้วรัฐยังคงควบคุมสังคมโดยผ่านสารพัดกลไก

ต่อไป กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากจะเอ่ยถึงด้วยความเกรงใจ คือปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็นผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง เท่าที่ผมสังเกตเห็น ซึ่งอาจจะเป็นการมองผิดไปก็ได้

ผมรู้สึกว่าปัญญาชนนี่ถือตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ค่อย connect กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเท่าใด ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นใน Facebook กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชน โดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สำหรับเรื่องนี้ผมเองค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะสมัยทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 บรรดานักศึกษา ปัญญาชน และนักวิชาการพากันเข้าหาปนะชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าสังคมกำลังีปัญหาอะไรใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงต้องหาทางเอา 10 สู้ 1 เสมอ เพื่อให้ควนส่วนใหญ่อยู่ข้างเดียวกับตน ไม่ใช่เอา 1 สู้ 10 แล้วนั่งภูมิใจอยู่ท่ามกลางความพ่ายแพ้

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจจะเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในตัวของมันเอง

มันเป็นไปได้หรือไม่ว่าลัทธิ neoliberalism นั้นซึมลึกเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากกว่าที่เราคิด แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนี่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น

ระบบ Facebook ก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคนหนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนักที่หายไปคือสำนึกโดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ

บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่พลัง และถ้าจะให้พูดตรงๆ ยกเว้นนักวิชาการอาวุโสเป็นผู้นำทางความคิดกับนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่นแล้ว

ผมเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ด้วยเหตุดังนี้ พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความเห็นของตน matter (มีความหมาย) ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขายังคงเป็นแค่ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ ผมหวังว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คงจะไม่ใช่การมองโลกในเชิงลบมากเกินไป ผมเพียงแค่ชวนท่านมามองความเป็นจริงโดยไม่หลบตา เพราะมีแต่มอบตัวให้กับความจริงเท่านั้น เราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ตรงตามเงื่นไขเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น

เนื่องจากได้รับเชิญมาพูดในงานของศูนย์วิขัยดิเรก ชัยนาม ผมก็ได้แต่หวังว่าแง่คิดที่นำมาเสนอจะมีส่วนจุดประเด็นให้ท่านไปทำวิจัยต่อได้บ้าง ไม่มากก็น้อย สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ยังขาดองค์ความรู้มาประกอบการพิจารณาเป็นอย่างมาก ส่วนตัวผมเองก็ทำให้แค่ตั้งข้อสังเกตผ่านสายตาชายชรา

นับจากพ.ศ.2475 มาถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าเส้นทางงวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยไม่ใช่เส้นตรง หากยักเยื้องแบบ dialectical หรือเป็นลักษณะวิภาษ หลายปีที่ผ่านมาการเมืองการปกครองของไทยแปรเปลี่ยนไปตมความขัดแย้งระหว่างพลังอำนาจนิยมกับพลังประชาธิปไตย ซึ่งด้านหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่จากนอกระบบราชการ ทั้งนี้โดยประชาชนหลายชั้นชนเป็นตัวแปรสำคัญ

แต่ในกระบวนการคลี่คลายของความขัดแย้งทุกรอบ ก็ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ เข้ามาแทรก เช่น ความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางเก่ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับคนงาน ความขัดแย้งระหว่างชาวชนบทกับคนเมืองหลวง กระทั่งความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองประชาชนด้วยกัน

ความขัดแย้งที่ทาบซ้อนกันเหล่านี้ เป็นแหล่งที่มาของการจัดกำลังเผชิญหย้ากันในยามที่สถานการณ์ดำเนินมาถึงช่วงวิกฤต ซึ่งฝ่ายไหนมีดุลกำลังเปรียบเทียบที่เหนือกว่าและมีแนวทางการต่อสู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเฉพาะหน้ามากกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะไป ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือมักตกค้างอยู่ในภาวะ antithesis (ภาวะแย้ง) นานเกินไป จนหา synthesis (การประสม) ไม่เจอ

ในวันนี้ ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ การที่รัฐธรรมนูญ 60 จัดผังอำนาจโดยขยายบทของราชการทั้งทหารและพลเรือน อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง

ซึ่งในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและควบคุมผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากชึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด แน่นอน

ที่ไหนมีการเมืองที่นั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน