คอลัมน์ รายงานพิเศษ

“อย่ามากังวลกับผมว่าจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต เราต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่น ทำนี่ ให้เสียสมาธิ วันหน้าก็อยู่ที่ประชาชน เรื่องโพลก็ขอบ คุณผู้สนับสนุน ส่วนผู้ไม่สนับสนุนก็ขอบคุณเช่นกัน จะรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง”

ประโยคคำพูดยาวๆ สะท้อนท่าทีอนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.

หลังจาก “นิด้าโพล” สำรวจพบประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.52 “เห็นด้วย” หากจะมีการจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ถือเป็นท่าทีทางการเมืองที่ “เปลี่ยนไป” ของพล.อ.ประยุทธ์ จากเมื่อครั้งนำกองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2557

ผ่านไป 3 ปีเศษ จนเข้าสู่ช่วง “โค้งสุดท้าย” โรดแม็ปเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 หลายคนตั้ง ข้อสังเกต พล.อ.ประยุทธ์ มีพัฒนาการทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กับนักข่าวสื่อมวลชนที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด ช่วงหลังท่านผู้นำก็ปรับอารมณ์ลดดีกรีความดุดันลง

ขณะเดียวกันก็สั่งรื้อฟื้นโครงการ “ครม.สัญจร” 6 ภูมิภาค เตรียมนำทีมรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะรับฟังสารทุกข์สุกดิบจากประชาชนโดยตรง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ไม่นับรวมโปรแกรมทัวร์ต่างจังหวัดที่ทำเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.52 ที่เห็นด้วยให้จัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ให้เหตุผลว่า

เพราะต้องการเห็นทางออกใหม่ๆ ช่วยลดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมือง หากเข้ามาอย่างถูกต้อง ประชาชนก็ไม่ติดขัดประการใด

อีกทั้งหากมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศและสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว และเป็นการสนับสนุน

ให้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำงานต่อไป

ถึงจะเป็นแค่การแบ่งรับแบ่งสู้ ยังไม่ถึงขนาดชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง เพื่อกลับเข้าสู่อำนาจอย่างสง่างาม เพราะยังเป็นเรื่องอีกไกล

แต่ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่น้อย ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่แน่ใจ

อย่างในโพลสำรวจเดียวกัน ก็ยังพบด้วยว่ามีประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.28 “ไม่เห็นด้วย” กับการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลคสช.

เหตุผล เพราะเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” ซึ่งในปัจจุบันการบริหารประเทศมีหลายอย่างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

หากยังได้รัฐบาลชุดเดิมประเทศชาติอาจจะไม่ก้าวหน้า

ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในบางเรื่องทำได้ไม่เต็มที่ จึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเลือกนักการเมืองที่เก่ง มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศเข้ามาแทน

และที่ต้องจับตาไปพร้อมกัน กับเส้นทางอนาคตทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์

คือความเคลื่อนไหวในซีกของสมาชิกสปท. 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ที่ยื่นลาออกจากตำแหน่ง ตามกรอบกติกาภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้

แต่งตัวรอลงสนามเลือกตั้งส.ส.

นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสปท. ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้เหตุผลในแบบตรงไปตรงมาว่า ลาออกเพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้ง

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่นายสมพงษ์ ครั้งนี้จะไม่ย้อนกลับไปลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย

แต่จะอยู่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่จดทะเบียนอยู่เดิม ร่วมกับพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และพ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ยื่นใบลาออกจาก สปท.แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการชักชวนพรรคเล็กอีก 2 พรรค ให้มารวมตัวเป็นพรรคใหม่

เพื่อช่วยเหลือกันในการลดภาระความยุ่งยากเรื่องหาสมาชิกพรรค และการตั้งสาขาพรรค ให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในระบบไพรมารี่โหวต

นายสมพงษ์ยืนยันว่า “พรรคเล็ก” ที่จะมารวมตัวกันไม่ใช่พรรคตัวแทนทหาร ถึงจะมีทหารบางส่วน มาร่วมด้วยก็ตาม แต่หากทหารตั้งพรรคขึ้นมาจริง

พรรคเล็กก็พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรกับ “พรรคทหาร”

พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล กล่าวว่า แนวคิดที่จะรวมพรรคเล็กเข้าด้วยกัน ให้เป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ อย่างน้อยอยากให้ได้เท่ากับพรรคภูมิใจไทย

ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยมีแค่พรรคใหญ่อย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” เท่านั้น ที่เป็นทางเลือก

อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมา พรรคเล็กมีโอกาสเกิดยาก ที่สำคัญถ้าพรรคขนาดเล็กรวมกันเป็นพรรคขนาดกลางได้ ก็จะมีหนทาง

เข้าร่วมรัฐบาลบริหารประเทศได้

ส่วนพรรคเล็กที่เป็นเป้าหมายดึงมารวมกัน เบื้องต้นมีการเล็งเป้าไปที่ “พรรคมาตุภูมิ” ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กับ “พรรคทวงคืนผืนป่า” ของนายดำรงค์ พิเดช และพรรคอื่นๆ ที่จะตั้งขึ้นมา ซึ่งนายดำรงค์ได้ออกมาโต้ข่าวแล้วว่าไม่จริง

รวมถึงอาจจะไปขายความคิดให้พรรคเดิมที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น “พรรคชาติไทยพัฒนา” ก็เป็นได้

มีปฏิกิริยาหลากหลายจากฝ่ายพรรค การเมืองใหญ่ ต่อท่าทีล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขอรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจอนาคตทางการเมือง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวสนับสนุนหากพล.อ.ประยุทธ์จะลงสมัครรับเลือกตั้งจริง เพราะสิ่งดีที่ทุกคนอยากเห็น ก็คือ “ผู้นำ” ที่มาจากการเลือกตั้ง

หากประชาชนไว้วางใจก็จะเลือกมาเป็นนายกฯ

ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่าหากพล.อ. ประยุทธ์จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ เพื่อเป็น “ทางเลือก” ให้กับประชาชนก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้

แต่ต้องให้ความมั่นใจกับทุกคนด้วยว่าจะแข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจรัฐ สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคของตนเอง

หากจะว่าไปแล้วตามกฎกติกาที่เครือข่ายแม่น้ำ 5 สายช่วยกันเขียนขึ้นมาใหม่ ทั้งที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี?60 และกฎหมายลูกที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับที่กำลังจะคลอดออกมาบังคับใช้

ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบใหม่ “จัดสรรปันส่วนผสม” การกำหนดให้ทุกพรรคใช้ระบบ “ไพรมารี่โหวต” ในการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับ เลือกตั้ง

รวมถึงการให้สิทธิ “ส.ว. 250 คน” ที่คสช.ลากตั้งเข้ามาเองกับมือ มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯ “คนกลาง” ได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คาบเกี่ยวห้วงวาระรัฐบาลปกติ 2 สมัย 8 ปี

สิ่งเหล่าถือเป็น “แต้มต่อ” ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ ในการกลับคืนสู่อำนาจ

เพราะต่อให้พลาดพลั้งในสนามเลือกตั้ง ก็ยังมี 250 ส.ว.ลากตั้งเป็น “นั่งร้าน” รออยู่

ส่วนจะเรียกว่าเป็นการกลับมาอย่าง “สง่างาม” และมี “ความชอบธรรม” พอที่จะบริหารประเทศต่อไปหรือไม่

อยู่ที่ประชาชนในสังคมจะว่าอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน