เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรค พท.จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย” โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท.และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นสำคัญ ประเทศไทยล้มลุกคลุกคลาน ฉีกรัฐธรรมนุญไม่รู้กี่ครั้ง

 

ผู้ที่เข้ามาร่างก็จะร่างแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ได้คิดถึงประชาชน ขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ฉบับเสื้อคลุมประชาธิปไตย สอดไส้เผด็จการ” เป็นรัฐธรรมนูญแห่งความย้อนแย้ง สร้างภาพหลอนให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ แต่แท้จริงแล้วประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้อรหันต์ 80 คนรับคำสั่งเข้ามาร่างแบบผิดเพี้ยน เจือจุนให้กับเผด็จการ

แทนที่จะร่างเพื่อความต้องการของคนส่วนรวม ทำลายระบบพรรคการเมืองของประชาชน แต่สร้างพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของผู้มีอำนาจ คือ พรรค สว. ตนป็น ส.ส.มา 30 ปี ไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ แบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นายกฯ ไม่ใช่คนที่ประชาชนเลือกเข้ามา สร้างระบบรัฐซ้อนรัฐ โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติ สร้างยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นกฎหมาย เป็นเครื่องมือสำหรับทำลายรัฐบาลหากเป็นฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจปัจจุบัน ดังนั้นเราต้องแก้รัฐธรมนูญเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก ประชาชนต้องออกมาช่วยกันคิดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ไปทางไหน เพราะไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้ง เราจะได้นายกฯ แต่คนนี้ ดังนั้นเราต้องช่วยกันให้ความเห็นให้กว้างขวาง เพื่อแก้ไขัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบันนี้พิสูจน์แล้วว่าสิทธิประชาชน การเข้าถึงทรัพยากรของประเทศชาติ ความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินจากผลพวงรัฐธรรมนูญฉบันนี้ ลิดรอนสิทธิของประชาชน

พรรค พท.มีหน้าที่ยืนแถวหน้าที่จะดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้เราจะเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนมาร่วมดีไซน์รัฐธรรมนูญฉบับหน้า ให้สิทธิประชาชนร่วมเขียนด้วยกัน ไม่ใช่ใช้คนไม่กี่คนของเผด็จการเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง ลบสิ่งที่เป็นทุกข์ของประชาชนออกไป

จากนั้นนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกฯ และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ทำไมเราต้องมีรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันผู้คนสนใจมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าใจว่ารัฐธรมนูญคือหัวใจของทุกอย่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชน แต่ตอบโจทย์คนร่าง ลงประชามติแบบไม่เสรี ไม่เป็นธรรม

ที่ผ่านมาใครไม่เห็นด้วยพูดตรงไปตรงมาก็ถูกดำเนินคดี และอย่าไปเชื่อว่ารัฐรรมนูญไม่เกี่ยวกับปากท้องและวิถีชีวิต ซึ่งอำนาจการปกครองเป็นของราษฎรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิแต่ไม่ให้โอกาสประชาชน

ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ให้เป็นประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ต้องฟังทั้ง 65 คนหรอก แต่ปัญหาคือหากคุณเป็นคนยากจน ตะโกนเสียงดัง ก็ไม่มีใครได้ยิน แต่พอเจ้าสัวแค่กระแอม ผู้มีอำนาจกลับเงี่ยหูฟังทันที

นายโภคิน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญในอดีตตั้งแต่หลังปี 2475 จนมาถึงยุคปี 2539 รัฐธรรมนูญน่าสนใจขึ้นเมื่อเริ่มมีการเสนอให้มีการปฏิรูปผ่าน ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วม มีการรับรองสิทธิประชาชนมากขึ้น เสนอร่างกฎหมายถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง มี ส.ส.ระบบสัดส่วนได้

ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้เข้ามาบริหารประทศแบบเต็มกำลัง ปี 2543-2549 เศรษฐกิจกำลังดีขึ้นมาก ทัศนคติประชาชนเปลี่ยน สามารถเสนอความต้องการได้ แต่พอถึงยุคปัจจุบันกลับไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 2540 มองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งแปลกมาก ฉีกรัฐธรรมนูญปล่อยให้เนติบริกรเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญตามใจชอบ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน

พอรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 เผด็จการเอารัฐรรมนูญไปทำประชามติอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ฟรีและแฟร์ ทั้งนี้ กรรมาธิการในซีกฝ่ายค้านกำลังผลักดันให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ เราเสนอให้มี ส.ส.ร.200 คนให้ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ หากปล่อยไว้ไม่แก้ก็จะได้ลุงตู่เข้ามาบริหารประเทศอีก

หากได้พรรคการเมืองต่ำกว่า 20 พรรคมาร่วมรัฐบาล ให้เข้ามาด่าตนได้เลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อความซวยของคนไทย ทำลายพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการให้ชนะเป็นเสียงข้างมาก ต่อให้ชนะก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ มีองค์กรอิสระคอยช่วยเหลือ ฝ่ายเขาทำผิดทุกอย่าง องค์กรอิสระบอกถูกทุกอย่าง ทำได้หมด ดังนั้นประชาชนต้องช่วยกันกดดันเพื่อให้เกิด ส.ส.ร.เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กล่าวว่า การทำงานใน กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจตนสักเท่าไหร่ เพราะมีการเซ็นชื่อแล้วออกไป คนที่มาร่วมประชุม หรือมาแสดงความคิดเห็นจะมีมากกว่าเสียอีก ส่วนเนื้อหา

เราคงจะต้องศึกษาและร่วมกันหาทางออกอีกพอสมควร ทุกเรื่องมีการเสนอปัญหา ไม่เว้นแม้แต่มาตราเดียว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ในอนาคตเราคงต้องหาข้อยุติให้ได้ แต่เรื่องที่เรามีการถกเถียงกันพอสมควรคือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องของรัฐบาลในการวางแนวทางการบริหาร

ส่วนยุทธศาสตร์วางได้แต่ไม่ใช่วางแบบที่วางอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งการวางไว้ 20 ปี และตั้งคณะกรรมการที่สรรหากันมาเอง ตนเชื่อว่า ไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่วางไว้ ได้เพียงแต่วาดฝันเอาไว้ ทั้งนี้ สภาพปัญหาที่มีการตั้งข้อสังเกตกันใน กมธ. คือการวางยุทธศาสตร์ชาติ ไม่สามารถวางไว้ยาวๆ ได้

แต่การวางยุทธศาสตร์ไว้แบบนี้ มีการเลือกตั้งอย่างนี้ เขาอาจจะตั้งใจทำให้ได้จริงๆ อาจจะตั้งใจอยู่ให้ครบ 20 ปี เพื่อทำอะไรๆให้ได้ตามที่ต้องการ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป แต่พวกเราคงไม่ยอม ส่วนจะสำเร็จแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกัน

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นกำกับการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติทำให้รัฐราชการใหญ่กว่าฝ่ายการเมือง ดังนั้นฝ่ายการเมืองที่ไม่ใช่พวกเดียวกันกับคนที่กำกับยุทธศาสตร์นี้ คงบริหารประเทศอย่างยากลำบาก

นายชัยเกษม กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กมธ.ยังได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการ เพราะขณะนี้มีปัญหาว่าไม่มีอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรตรวจสอบ หรือองค์กรอื่นๆ ตรวจสอบการใช้อำนาจดุลพินิจของตุลาการได้ บางครั้งมีคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก

และการใช้ดุลพินิจไม่รับพยานหลักฐานก็ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยในข้อมูล ที่ประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญในส่วนนี้ โดยให้อำนาจ กมธ.ในการเรียกผู้พิพากษา และตุลาการมาให้ความเห็น หรือสอบถามเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าชอบ หรือถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่

แต่ก็มีการเสนอว่าจะต้องไม่ผูกพันกันคำตัดสินที่ได้ตัดสินไปแล้ว ต่อมาคือ กรณีที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการออกไปทำงานอย่างอื่น หรือมีเหตุปัจจัยให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ เช่น การให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ไปดำรงตำแหน่งนายกฯสภามหาวิทยาลัยที่มีองค์ประกอบที่อาจะทำให้เกี่ยวจข้องกับการเมืองได้ เป็นต้น

นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผอ.โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นธรรมของรัฐ ขณะที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เป็นพันธะสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนที่อยู่ในรัฐ คือต้องรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันต้องใช้ชีวิตอยู่ได้ปกติสุขตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น และการรับประกันความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

แต่ท้ายที่สุดความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมเสมอกัน แต่อาจจะต้องปกป้องคนที่อ่อนแอ สร้างความเท่าเทียมในสังคม ที่ต้องรับประกันการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ หากมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะกระเดียดไปทางอำนาจนิยม

อย่างน้อยต้องเอื้ออำนวยใน 3 เรื่อง คือ เอื้ออำนวยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจไปกดขี่ข่มเหงผู้อื่นได้ รัฐธรรมนูญทำให้สังคมอ่อนระโหยโรยแรง ยอมกับการถูกขดขี่ จะออกมาต่อสู้ยากมาก และมีความพยายามส่งต่อแนวคิดการใช้อำนาจในการกดขี่ไม่ใช่จากรัฐบาลต่อรัฐบาล

อาจจะเป็นคนรุ่นต่อรุ่นก็เป็นไปได้ ทำให้ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมเอาดอกไม้ไปให้คณะรัฐประหาร ในส่วนของกระบวนการเป็นประชาธิปไตย จะต้องลบล้างความเป็นอำนาจนิยมออกไป โดยต้องเกิดกระบวนการให้อำนาจประชาชนจริงๆ


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน