เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 19 ก.ค. นี้ กรธ. จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ สนช. ลงมติเห็นชอบแล้วในวาระสาม หลังจากที่สนช.ส่งเรื่องมายังกรธ.แล้ว โดยจะดูเนื้อหาของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าบทเปลี่ยนแปลงที่แก้ไขไปนั้นมีประเด็นใดที่กรธ. ติดใจ หรือมีรายละเอียดที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

แต่โดยส่วนตัว ฐานะ อดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมองว่าในหลักการไม่มีปัญหา และไม่มีส่วนใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนกรณีที่มีบางประเด็นในร่างกฎหมาย เช่น การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย หรือกรณีให้ศาลดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบโดยจำเลยไม่ปรากฎตัวต่อศาลนั้น ที่ตัวแทนของศาลยุติธรรมมองว่ามีปัญหานั้น อาจส่งประเด็นมาให้ กรธ. พิจารณาร่วมด้วยก็ได้

“ในประเด็นที่ระบุว่าศาลติดใจนั้น ก่อนหน้าที่ตัวแทนของศาลยุติธรรมก็ได้ใช้สิทธิสงวนความเห็นต่อที่ประชุมสนช. แล้ว โดยเฉพาะมาตรา 27 ว่าด้วยการพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย หากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาแสดงต่อศาล และ มาตรา 28 ว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีพิจารณา หากมีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงและจำเลยมาแสดงตนต่อศาล ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวได้รับคำชี้แจงคำอธิบายไปแล้ว โดยผลสรุปคือมติที่ประชุมสนช. ข้างมากก็พิจารณาให้บทบัญญัตินั้นผ่านใช้เป็นกฎหมาย” นายอุดม กล่าว

นายอุดม กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ศาลยุติธรรมติดใจและมองว่าอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 กำหนดได้ให้สิทธิผู้ทำความเห็นยัง สนช. มีเฉพาะ กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยในที่นี่องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้ ป.ป.ช.ที่ร่วมพิจารณาระบุแล้วว่าเนื้อหาไม่มีปัญหา ดังนั้นจะเหลือเพียง กรธ. ที่เตรียมจะพิจารณา ซึ่งขณะนี้ตนยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการเสนอเพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสน้อย

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แถลงข่าวว่า การแก้ไขร่างกฎหมายนี้ในชั้นกมธ.จากสนช. นั้นทาง สนช. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้แทนจากศาล อัยการ และป.ป.ช. ได้ตรวจสอบดูแล้วว่าไม่ขัดหลักการ เป็นไปตามความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย ขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเจตนาจะล่าแม่มดหรือเอาผิดกับคนบางคน

กฎหมายนี้ไม่มีผลย้อนหลัง มีแต่เดินไปข้างหน้า หลักกฎหมายเป็นการเปลี่ยนวิธีในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาการใช้กฎหมายพิจารณาคดีแบบเดิมสามารถนำเอานักการเมืองแค่เพียงคนเดียวคือนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุขมาติดคุกเท่านั้น ส่วนคดีที่เหลือผู้ต้องสงสัยก็หลบหนีออกนอกประเทศไปหมด

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนตามที่บัญญัติในกฎหมายใหม่นี้นั้นจะยึดถือตามหลักสากลเป็นหลัก คือมีการออกหมายเรียกหมายจับ พอฝ่ายจำเลยได้รับหมาย ถ้าไม่มาศาลแต่ว่าแต่งตั้งทนายเข้ามาสู้คดี ก็ยังได้สิทธิรื้อฟื้นคดีและได้สิทธิอุทธรณ์ด้วย ส่วนอายุความของคดีสำหรับคนที่สู้คดีนั้นก็ยังเท่าเดิมทุกประการ

เมื่อถามว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการอย่างไรกับ คดีที่พิพากษาไปแล้ว จำเลยยังหลบหนีอยู่และก็อยู่ในอายุความ นายสมชายกล่าวว่าต้องดูที่มาตรา 24 ของร่างกฎหมาย ในวรรค 1 2และ 3 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่แล้ว ถ้าจะนำมาใช้ประโยชน์ก็ทำได้ การหนีคดีนั้นจะต้องมีการแบ่งลักษณะให้ชัดเจน

กรณีที่จำเลยหลบหนีไปก่อนมีคำพิพากษาของศาล กรณีที่จำเลยไม่ยอมไปที่ศาล ถ้าหากทำแบบนี้ก็จะทำให้อายุความของคดีสะดุดลงทันที ถ้าเขากลับมา ก็ต้องนับอายุความต่อเนื่องไป เช่นเดียวกันถ้าศาลตัดสินว่าจำคุก 15 ปี ถ้าหากจำเลยหนีไปในปีที่ 3 พอกลับมาก็ต้องมารับโทษอีก 12 ปีดังนั้นถ้าเขาจะหนีก็ต้องหนีไปให้ตลอดชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน