วันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ รวม 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปด้านละไม่เกิน 15 คน รวมทั้งหมด 165 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้แต่งตั้งทั้งสิ้น 120 คน เหลืออีก 45 คนจะพิจารณาแต่งตั้งต่อไป ซึ่งใน 120 คน เป็นผู้หญิง 20 คน อายุระหว่าง 40–70 ปี จบปริญญาเอก 30 คน และเป็นไปตามแนวทางที่นายกฯ เคยสั่งการให้มีข้าราชการประจำน้อยที่สุด ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า จากนี้คณะกรรมการทั้ง 11 คณะ จะประชุมเพื่อยกร่างแผนการปฏิรูปในด้านต่างๆ และนำแผนของแต่ละคณะมารวมกันเพื่อกำหนดเป็นแผนปฏิรูประดับชาติ คาดว่าแผนการปฏิรูประดับชาติจะใช้เวลา 8 เดือน จะเสร็จในเดือนเม.ย. 2561

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ปฏิรูป ได้กำหนดวิธีการทำงาน เช่น 1.มีหัวข้อปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญและครม.กำหนด 2.ระบุกลไก วิธีการ ขั้นตอน และผลลัพธ์ของการปฏิรูปในแต่ละด้าน พร้อมมีตัวชี้วัดด้วย 3.ผลสัมฤทธิ์ในช่วงระยะเวลา เช่น 5 ปี 4.กฎหมายที่ต้องออกเพื่อให้กลไกการปฏิรูปเดินหน้าไปได้มีหน่วยงานใดบ้างที่จะต้องปฏิบัติ ใช้งบประมาณเท่าใด

โดยทั้ง 11 คณะจะต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐสภา ศาล กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่นๆ จากนั้นทำรายงานเสนอครม.และรัฐสภาให้รับทราบถึงผลการดำเนินงาน จะเห็นว่าทั้ง 11 คณะคุ้มค่ากับการแต่งตั้ง

“คำถามยอดฮิตคือ ถ้าหน่วยงานใดไม่ทำตามคณะกรรมการปฏิรูป จะทำอย่างไร เรื่องนี้ได้ให้มีการเจรจาพูดคุยเพื่อขอทราบเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ทำ ถ้ารับฟังได้ก็ค่อยว่ากัน แต่ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้รายงานนายกฯ หรือรายงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะแต่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินการกับหน่วยงานเหล่านี้ได้” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

อ่านรายชื่อทั้งหมดที่นี่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน