วันที่ 16 ส.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านว่า ดูจากรายชื่อแล้วไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนในแวดวงของ คสช. และคนที่ให้ความร่วมมือกับ คสช.และแม่น้ำ 5 สายได้ คณะกรรมการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องที่กำหนดมาจากรัฐธรรมนูญ ที่จะให้การบริหารประเทศถูกกำหนดและควบคุมโดย คสช.หรือผู้ที่เชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กับ คสช. จากนี้ไปการทำงานของรัฐบาลจะถูกกำกับควบคุมและต้องทำตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปที่คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ คิดและกำหนด

ดังนั้น ช่วงนี้ที่ คสช.ยังมีอำนาจ การทำตามแผนปฏิรูปก็จะดำเนินไปในทางเดียวกันกับผู้มีอำนาจ แต่การบริหารโดยมีผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์และอาศัยกระบวนการที่ไม่รับฟังความคิดเห็น ไม่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ก็จะผิดทิศผิดทางไปอย่างราบรื่นแบบนี้

มองว่าบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูปจะเกิดปัญหาอย่างมากในช่วงหลังการเลือกตั้ง หากผู้มีอำนาจใน คสช.ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลนำโดยคนนอกได้ การบริหารก็จะยังคงมีลักษณะเดิมเหมือนตอนที่ คสช.ยังอยู่ เป็นการบริหารงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าเจอกับรัฐบาลเลือกตั้งก็จะเกิดปัญหาเพราะรัฐบาลไม่สามารถคิดหรือกำหนดนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนได้เลย และต้องทำตามแผนปฏิรูปที่คณะเหล่านี้กำหนดเอาไว้

คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มาจากประชาชน แต่กลับมีอำนาจกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนต้องทำตามความคิดความเห็นของผู้ที่ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจอะไร เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้นตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ

จุดมุ่งหมายนำพาประเทศภายใต้แนวคิด คสช.จะยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น ส่วนจะอยู่กับประเทศนี้ไปอีกนานแค่ไหนไม่มีใครบอกได้ ขึ้นกับความเข้าใจและความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงชนชั้นกลางและชนชั้นนำว่าจะเข้าใจปัญหาและความทุกข์ร้อนของประเทศหรือไม่ สภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นไปอีกนานตราบใดที่คนส่วนใหญ่ยังทนกับมันได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน