วันที่ 17 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดย พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 67 มาตรา มีการแก้ไขคำปรารภ และแก้ไขทั้งหมด 18 มาตรา ซึ่งมีคณะกรรมาธิการฯขอสงวนคำแปรญัตติ 5 คน และสมาชิกสนช. 3 คน ทั้งนี้ ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของกสม.นั้น สมาชิกสนช.และคณะกรรมมาธิการฯ มีแนวคิดเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้กสม.พ้นตำแหน่งทั้งหมดหลังจากกฎหมายประการใช้ 2.ให้กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ และ 3.ให้กสม.ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 3 ปี นับจากวันโปรดเกล้าแต่งตั้ง

จากนั้นนางจุรี วิจิตรวาทการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ อภิปรายว่า กลุ่มของตนมีแนวคิดที่ 1 คือ เซตซีโร่ กสม.เนื่องจากเห็นว่า กสม.ต้องทำงานในองค์กรร่วมกับเวทีสากล เราจึงต้องปฏิบัติตามหลักการสากล คือ กฎปารีส แต่ขณะนี้การสรรหากสม.ของเรายังมีปัญหาที่ไม่ตรงไปเป็นกฎกติกา ตนได้คุยกับเจ้าหน้าที่สากลของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน เขาก็มองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ที่ต้องการให้คนที่มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลายเข้ามาดำรงตำแหน่ง เหตุผลที่ยกมาน่าจะสมเหตุสมผลเนื่องจากกฎหมายนี้เราพิจารณาโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ด้านนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย ในฐานะรักษาการรองเลขาธิการกสม. ที่มีแนวคิดตามหลักการที่ 2 กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรให้กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระในปี 2564 เนื่องจากขณะนี้หลักการปารีสได้รับรองจากสถาบันทั่วโลก มีเนื้อหาตามขอบเขตหน้าที่ อำนาจเหล่านี้ กสม.เรามีกระบวนการประเมินและพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการปารีสและ กสม.ก็ได้ปฏิบัติตามกฎโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม คือ กระบวนการได้มาที่ยังขาดหลักประกัน เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่รองรับ ซึ่งกสม.มีหน้าที่สามารถดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อทบทวนแนวทางการทำงานที่ยังไม่เป็นไปตามกฎกติกาปารีสภายในปี 2561 ดังนั้น ที่ตนให้กสม.อยู่จนครบวาระเพราะมีความหลากหายและได้รับการสรรหาโดยชอบ ตามคำสั่งคสช. และผ่านความเห็นชอบของสนช.เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558

ขณะที่ นายกล้านรงค์ ทันจิก คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างมาก ซึ่งมีแนวคิดในกลุ่มที่ 3 กล่าวว่า การที่ต้องการให้ประธานกสม.และกรรมการกสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับ ยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก่อนครบวาระในปี 2561 ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้ กสม.ชุดนี้อยู่ต่อ คือ ทำอย่างไรจะไม่กระทบสิทธิ เพราะเราตั้งคุณสมบัติสูงขึ้น แต่กสม.อาจไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติเหมือนกับ ป.ป.ช. หรือสตง. เพราะกสม.เขามีสิทธิได้รับผลประโยชน์โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยกฎหมายในขณะที่แต่งตั้ง กสม.เข้ามา

ต่อมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯได้ไปประชุมเพื่อตกลง ปรับแก้ และพิจารณาหารือในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

จนกระทั่งเวลา 12.50 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง โดยพล.ร.อ.วัลลภ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯได้หารือแล้วเห็นว่า ให้กลับไปสู่ร่างเดิมในมาตรา 60 ตามที่ กรธ.ร่างมาโดยไม่มีการแก้ไข คือ ให้ กสม.พ้นตำแหน่งทั้งหมดหลังจากกฎหมายประกาศใช้ทันที โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยในมาตรา 60 ด้วยคะแนน 117 ต่อ 20 งดออกเสียง 8 และขอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 61 เรื่องเวลาในการสรรหาคณะกรรมการเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ กสม.ชุดปัจจุบันจะรักษาการไปจนกว่าจะสรรหา กสม.ชุดใหม่ในระยะเวลา 320 วัน

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ด้วยคะแนน 199 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 ถือว่าที่ประชุมมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ จากนี้ทาง สนช.จะส่งร่างให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญคือ กสม. และ กรธ.เพื่อพิจารณาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน