ปฏิรูปกันเอง

ใบตองแห้ง

และแล้ว ชาวนกหวีด “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็ได้สุขสมหวังสปัสซั่ม หลังตั้งตารอมา 3 ปี รัฐบาลปฏิรูปประเทศทีเดียว 12 ด้าน ตั้งกรรมการปฏิรูป 11 ชุด พร้อมกับปฏิรูปรถเมล์

“รถคันนี้สีเขียว” ปฏิรูปวิถีไทย รถคันเก่าโป๊สีหน้ารถใหม่ ให้เป็นสีเขียว แดง เหลือง น้ำเงิน แล้วเปลี่ยนชื่อสายมี G R B Y แถม E ต่อท้าย ที่เคยจำง่ายก็ให้จำยากเข้าไว้ เหมือนพรรคเดียวเบอร์เดียวก็แยกเบอร์กระจัดกระจาย แต่ห้ามมองแง่ร้าย ให้มองว่าหวังดี

เพียงแปลกใจอย่างเดียว รถเมล์ไทยทำไมต้องใช้ภาษาฝรั่ง ไหนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ไหนว่าภาษาไทยจะเป็นภาษากลางของโลก ความเป็นไทยภาคภูมิใจได้ถึงอุทยานเยลโลว์ สโตน

คณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ดูรายชื่อแล้วก็ไม่แปลกใจ ล้วนเป็นคนเด่นดังเท่าที่จะหาได้ ในภูมิปัญญาไทยที่ไม่รู้จัก นอม ชอมสกี้ (นึกว่าน้ำจิ้มสุกี้แม่ประนอม)

นอกจากข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ส่วนใหญ่ก็ “ขาประจำ” ส.ว.สรรหา สปท.แต่งตั้ง ที่รับใช้ชาติมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงรัฐประหาร 2557

บางรายก็คนกันเอง จำพวกที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เช่น ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ หลานชายสมคิด ดุสิต เครืองาม น้องชายวิษณุ ก็จะมีเบี้ยประชุม 48,000 บาทไปอีก 5 ปี

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, บัณฑูร ล่ำซำ, ถวิล เปลี่ยนศรี, เสรี วงษ์มณฑา, คำนูณ สิทธิสมาน, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, กล้านรงค์ จันทิก, วิชา มหาคุณ, เจษฎ์ โทณะวณิก ฯลฯ รายชื่อเหล่านี้มีใครแปลกใจ ถ้าหลุดโผไปสิ เรื่องประหลาด

ปฏิรูปการเมืองก็นำหน้ามาโดย “เชื่อมั่นประเทศไทย” เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พร้อมกับทนายวันชัย สอนศิริ เจ้าของวรรคทอง “ขอเลือกเลียคนดี”

ปฏิรูปยุติธรรมก็มีคุณหมอ GT200 ผู้เพิ่งจะยืนยัน อดีตที่ดินจังหวัดพังงาแขวนคอตายเอง

พูดอย่างนี้ไม่ได้ปรามาสเสียหมด คนดีมีความสามารถก็ไม่น้อย เพียงแต่ความรู้สึกแรกของชาวบ้าน เมื่อได้ฟังรายชื่อ ก็คือ “หน้าเดิม คนกันเอง” หรือคนข้างเดียว แม้อาจมีคนหน้าใหม่บ้าง หรือบางคนดูกลางๆ แต่นั่นแหละ นักวิชาการเห็นต่างก็ถูกเรียกเข้าค่ายทหาร มันเป็นการปฏิรูปข้างเดียวตั้งแต่ต้น เพียงน่าสังเกตว่า ครั้งนี้ไม่มี NGO ภาคประชาสังคม เหมือนตอนตั้ง สปช.

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ การคัดเลือก “คนดัง” มารวมกัน แม้มี “จุดขาย” ก็อาจได้ความคิดคนละทาง อาจหาข้อสรุปไม่ได้ แต่มองอีกด้าน กรรมการปฏิรูปก็ไม่มีอำนาจชัดเจน เป็นผู้เสนอความเห็นให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น

ฉะนั้น คณะกรรมการบางชุด อย่างทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คงไม่มีปัญหา ก็เสนอแผนอนุรักษ์ควายป่าเต่าทะเล ฟรุ้งฟริ้งตามโลกสวยของคนชั้นกลาง แต่จะมีผลทางปฏิบัติไหมก็ต้องผ่านกรรมการยุทธศาสตร์ เสนอ ครม. รัฐสภา หรือส่วนราชการ

เพียงแต่กรรมการบางชุด ก็อาจสร้างความขัดแย้งแต่ต้น เช่น ด้านสาธารณสุข ซึ่งกำลังขัดแย้งกันเรื่องแก้กฎหมายบัตรทอง กลับตั้งมาแต่อดีตปลัดสาธารณสุข หมอมหาวิทยาลัย ซึ่งบางคนก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ สปสช. ขณะที่ไม่มีตัวแทนแพทย์ชนบท ไม่มีภาคประชาสังคม

ซึ่งก็มีคนฝากถาม ปฏิรูปสาธารณสุขเป็นเรื่องของหมอเท่านั้นหรือ ทำไมไม่มีภาคประชาสังคม ผู้ใช้บริการ

เช่นกัน ปฏิรูปการเมืองไม่มีนักการเมือง ไม่มีภาคประชาชน (มีแต่คนแพ้เลือกตั้งย่อยยับ) ปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ไม่มีปากเสียงของผู้ได้รับความอยุติธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจ มีแต่นักธุรกิจกับข้าราชการ ไหนว่าจะลดเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปสื่อยังดีหน่อย เพราะเกรงใจสื่อ กระนั้นก็มีแต่ตัวแทนสื่อเก่า ที่กำลังจะตาย

ปฏิรูปสื่อไม่มี New Media ก็เหมือนปฏิรูปเศรษฐกิจไม่มี SME เศรษฐกิจดิจิตอล ไม่รู้จะตามทันอนาคต 5 ปีหรือไม่

ย้ำอีกทีว่าไม่ได้ปรามาส กรรมการปฏิรูปที่เป็นคนดีมีความสามารถก็เยอะ เพียงแต่มีคำถามว่าพวกท่านเข้ามาอยู่ในบทบาทอะไร

5 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ก็คือจะมีเลือกตั้งพิธีกรรม มี ส.ว.แต่งตั้ง มีนายกฯ คนนอก มีองค์กรอิสระ มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ช่วยค้ำจุนอำนาจ รักษาความมั่นคงของรัฐราชการและพลังอนุรักษนิยม

กรรมการปฏิรูปเป็นกลไกไปสู่ประชาธิปไตย หรือเป็นกลไกเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย ค้ำจุนอำนาจ บางคนอาจบอกว่ารักชาติ อยากช่วยประเทศก้าวพ้นวิกฤต กลับสู่ความสามัคคี ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดเหลื่อมล้ำ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็คือความพยายามทำให้ประชาชนยอมรับการจำกัดเสรีภาพ ถูกลิดรอนอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย และกลบเกลื่อนความไม่ยุติธรรม

ถ้าบทบาทของพวกท่านใน 5 ปีข้างหน้า เป็นอย่างนั้น ก็ไม่ทราบว่าจะภาคภูมิใจทำไมกัน

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน