เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดให้ข้าราชการทุกระดับยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ว่า แนวความคิดดังกล่าวถูกเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หาแนวทางหรือข้อคิดเห็นที่เหมาะสม เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องยาก
หากเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของแต่ละหน่วยงานอาจจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพราะกรณีที่ยื่นเอกสารบัญชีทรัพย์สินให้กับ ป.ป.ช. จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภทที่ต้องนำไปเปิดเผย และ 2.ประเภทที่ไม่ต้องนำไปเปิดเผย แต่จะเปิดเผยเมื่อเกิดคดีขึ้น ดังนั้นหากกำหนดให้ข้าราชการทุกตำแหน่งยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินโดยไม่แก้ไขกฎหมายอาจจะเกิดปัญหาได้ หากในอนาคตเกิดคดีขึ้นใครจะมีอำนาจเป็นผู้เปิดเผยบัญชี แม้ว่าซองบัญชีเหล่านั้นจะอยู่ที่แต่ละหน่วยงานก็ตาม เพราะขณะนี้ใครไปเปิดถือว่ามีความผิด และหากมีการให้แสดงบัญชีทรัพย์สินจริง กระทรวงที่มีข้าราชการจำนวนมากก็ไม่รู้จะนำข้อมูลไปเก็บไว้ที่ไหน ถ้าเกิดคดีขึ้นจริงยังไม่รู้ว่าจะต้องผิดถึงขั้นไหนถึงจะเปิดบัญชีนั้นได้ เช่น ป.ป.ช.ก่อนที่จะเปิดแสดงบัญชีทรัพย์สินได้ต้องผ่านคณะอนุกรรมการหลายคณะ
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนมองว่าอาจจะใช้วิธีการให้ ป.ป.ช.ขยายตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้มากขึ้นจะเหมาะสมกว่า แต่ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข้าราชการระดับซีไหน ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อน ส่วนแนวทางการศึกษาจากต่างประเทศนั้นแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน หากศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีหรือเป็นไปได้ก็จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในอนาคต ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ เสนอว่าควรให้เอกชนยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น เป็นการเสนอในที่ประชุมอย่างกว้างๆเท่านั้น ซึ่งต้องพิจารณาเฉพาะในส่วนของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐในการประมูลโครงการต่างๆ เพราะเอกชนไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่อะไร เว้นบางกรณีเท่านั้น ที่มีเรื่องร้องเรียนการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเห็นเพียงเส้นทางเงินเข้า แต่ไม่เห็นเส้นทางเงินออก หากสามารถตรวจสอบเอกชนได้ก็อาจจะส่งผลให้เห็นเส้นทางเงินที่สอดคล้องกัน
/////////////////////
สรส.จี้ สนช.ยับยั้ง ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับฯนำสู่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่รัฐสภา กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) นำโดยนายประกอบ ปริมล เลขาธิการสรส. ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้สมาชิกสนช.ยับยั้ง ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. เนื่องจากจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศและประชาชนอย่างมากในอนาคตดังเช่นที่รัฐบาลก่อนๆได้เคยแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปแล้ว
นายประกอบกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็น กฎหมายที่รัฐบาลร่างขึ้นเพื่อใช้ในการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่จากการระดมความเห็นของสรส.และจัดเวทีวิเคราะห์โดยมีนักกฎหมาย นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเสรษฐกิจและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ข้อสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเจตนรมณ์ที่รัฐบาลได้แถลงต่อสาธารณะ ซึ่งนอกจากไม่เป็นการปฏิรูปแล้วแต่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด ซึ่งสรส.ขอยืนยันในเจตนารมณ์และจุดยืนที่ได้แสดงออกเสมอว่า .เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงหาประโยชน์ ให้มีการบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริต มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ให้ประชาชนใช้บริการที่ดี เป็นกลไกของรัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สรส.จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อเจตนารมณ์ร่วมกันที่ดี ในการร่วมกันปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะไม่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ชาติและประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน